เปิดมุมคิดนักเศรษฐศาสตร์ มองเฟดขึ้นดอกเบี้ยทะลุเศรษฐกิจไทย

3คน

ในที่สุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี เพื่อเบรกอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ พร้อมส่งสัญญาณว่าจะปรับอีกราว 6 ครั้ง ซึ่งจะทำให้ปลายปีนี้ดอกเบี้ยเฟดจะไปอยู่ที่ 1.75-2.00% ต่อปี รวมถึงจะเริ่มดูดสภาพคล่องคืน (QT) ในการประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 3-4 พ.ค. 2565 จึงต้องมาพิจารณากันว่า จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอย่างไรบ้าง

ธปท.ยืนดอกเบี้ยต่ำฟื้นเศรษฐกิจ

“ดร.ปิติ ดิษยทัต” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ก่อนเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า ถึงแม้ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ไทยยังไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยตาม โดยนโยบายการเงินยังคงให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง และไม่สะดุด

นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐเชื่อว่าจะไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลออก เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยยังไม่แตกต่างกันมาก รวมถึงนักลงทุนน่าจะมองเรื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางเป็นหลักมากกว่าการมองเรื่องของผลตอบแทน

3 ข้อจำกัด เพิ่มแรงกดดัน ธปท.

ขณะที่ “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า จากทิศทางนโยบายของเฟดอาจจะทำให้มีแรงกดดันในการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะตอนนี้ ธปท.ยืนยันว่า ไทยยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

แต่คำถามที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยแบบก้าวหน้าตามที่ประกาศไว้ แล้วสิ้นปีดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นไปอยู่ที่ 2.00% ขณะที่ดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ 0.50% จะทำให้เกิดความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้ เพราะนักลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่า

โดยข้อจำกัด 3 ข้อที่ ธปท.จะเผชิญ ก็คือ 1.หากเงินเฟ้อไม่ได้สูงชั่วคราว เพราะหากราคาน้ำมันสูงนาน ๆ แล้วยังมีประเด็นเรื่องราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ ข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่จะทำให้ต้นทุนผลิตอาหารสูงขึ้น แล้วกลายเป็น food inflation (ภาวะราคาอาหารเฟ้อ) ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นไปได้ และหากการคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้นไประดับสูง จะทำให้ลดลงลำบาก 2.ยิ่งราคาน้ำมันแพง จะทำให้ไทยยิ่งขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น และ 3.ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับเฟด

“ถ้าสิ้นปีราคาน้ำมันยังอยู่ระดับสูง นักท่องเที่ยวไม่กลับมา เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอีก แล้วเงินเฟ้อยังสูง แบงก์ชาติจะทำอย่างไร ผมว่าหลัก ๆ ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลกยังไงก็มากระทบเรา ทั้งเรื่องดอกเบี้ยในตลาด ทั้งค่าเงินบาท ซึ่งวันนี้ก็เห็นว่า พอเฟดขึ้นดอกเบี้ย ดอกเบี้ยระยะยาวสหรัฐก็ขยับขึ้น และดอกเบี้ยระยะยาวของไทยก็ต้องขยับขึ้นด้วย ตัวสั้นถูกกดไว้ด้วยดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็จะถูกกดดันมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วแบงก์ชาติจะทำอย่างไร จากตอนนี้ที่บอกว่าจะให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก่อน”

นโยบายเฟดไม่รุนแรง

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ชี้ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ของเฟดเป็นการประกาศแนวทางการทำนโยบายการเงินเบื้องต้น ซึ่งเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ทั้งในส่วนความขัดแย้งในยูเครน-รัสเซีย และผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

โดยหากปลายปีดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 2.00% ถือเป็นระดับที่ไม่ได้สูงมาก สูงกว่าตลาดคาดการณ์แค่เล็กน้อย และภาพรวมเป็นแนวทางค่อยเป็นค่อยไป จากนั้นในปี 2566 เฟดจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 3-4 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยจะไปอยู่ที่ 2.5-2.7% ดังนั้น เศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับแรงสนับสนุนในการเติบโตไปอีกระยะเวลา 1 ปีกว่า

“ส่วนผลกระทบต่อไทยนั้น หากจะมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลออก เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง หรือน่าจะเป็นในช่วงปลายปี อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดรับรู้ไปพอสมควรแล้ว ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตลาดหุ้นก็ไม่ตื่นรับข่าวเท่าไหร่ ซึ่งเราจะเห็นสภาพคล่องล้นตลาดไปอีกสักระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่เฟดจะมีประกาศแผนการลดขนาดงบดุล (QT) ในการประชุมครั้งถัดไป ดังนั้น ภาพรวมเราจะยังอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำไปอีกปีกว่า”

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จับตาและสร้างความผันผวนให้กับตลาดและอาจมีผลต่อการดำเนินนโยบายของสหรัฐ มี 3 ปัจจัย คือ 1.การเผชิญหน้าระหว่าง NATO กับรัสเซีย ว่าสถานการณ์จะลุกลามรุนแรงแค่ไหน หรือมีการสู้รบจนกระทบโรงไฟฟ้าหรือไม่ 2.ราคาน้ำมันจะวิ่งไปไกลแค่ไหน ซึ่งไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ และ 3.การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในจีน และทั่วโลก

“เฟดมีหน้าที่เหมือนคุณหมอ หากเหตุการณ์พลิกผันไปกว่าที่มองไว้ โดยปัจจัยเสี่ยงคุมไม่ได้ เชื่อว่าระหว่างทางเฟดเองจะต้องปรับสูตรยาให้ตรงตามอาการ ซึ่งไม่ง่าย เพราะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยภายใต้ความผันผวนและมีความท้าทายอย่างมาก”

กนง.คง ดบ.-ไม่ละเลยเงินเฟ้อ

ด้าน “ดร.เชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า เฟดพยายามสร้างโรดแมปให้ตลาดเงินตลาดทุน ว่าจะเดินไปในทิศทางใด ซึ่งการปรับดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง ไม่ได้เป็นการปรับแบบก้าวกระโดด และเป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปตามโรดแมปที่เฟดวางไว้หรือไม่นั้น ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน เพราะจะส่งผลต่อราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อ

โดยหากสถานการณ์สู้รบคลี่คลาย ราคาน้ำมันน่าจะย่อตัวลงมาได้ แต่หากเหตุการณ์รุนแรง จนราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% คงไม่น่าจะเพียงพอ

“ในภาวะแบบนี้ ตลาดเงินและตลาดทุนจะมีความผันผวนค่อนข้างมาก และตัวเลขจะมีขึ้นและลงตามตัวเลขสำคัญของสหรัฐ โดยเฉพาะ 4 ตัว ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ การจ้างงาน, เงินเฟ้อ, ราคาน้ำมัน และสถานการณ์ในยูเครน ซึ่งจะสะท้อนแรงกดดันและนำไปสู่การดำเนินนโยบายของสหรัฐ”

ในแง่ผลกระทบต่อไทย “ดร.เชาว์” มองว่า เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงยืนอัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่ที่ระดับ 0.50% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การฟื้นตัวยังไม่กลับมาเป็นปกติ

โดยระหว่างทางพยายามพิจารณาผลกระทบจากเฟดในการขึ้นดอกเบี้ยต่อเสถียรภาพการเงิน เช่น อัตราแลกเปลี่ยน เงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเชื่อว่า กนง.จะนำปัจจัยเหล่านี้ใส่ในการพิจารณานโยบายการเงินเป็นรอบ ๆ ไป เพื่อให้เหมาะสม โดยยังคงให้น้ำหนักในการประคองเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ละเลยประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ

หลังจากนี้ ความผันผวนระหว่างทางคงมีอีกมาก แต่เชื่อว่าผู้กำกับดูแลนโยบายคงพยายามทำทุกอย่างให้สมูทที่สุด และหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่เป็นช็อกแรง ๆ เกิดขึ้นอีก