คลังจับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ เดินหน้ากู้เงิน พ.ร.ก. 2.7 แสนล้าน

คลังจับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ พร้อมออกมาตรการทางการคลัง-การเงินที่เหมาะสม หนุนเศรษฐกิจฟื้น เดินหน้ากู้เงินพ.ร.ก. ตามแผน 2.7 แสนล้านบาท ชี้ขณะนี้มีวงเงินเหลืออยู่ 7.4 หมื่นล้านบาท

วันที่ 27 เมษายน 2565 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องมีการติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยมี 5 ปัจจัย ได้แก่ 1) ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน 2) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

3) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท

4) ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และ 5) ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง

“กระทรวงการคลังจะได้มีการติดตามและประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ”

ด้านนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเต็มจำนวนในปีนี้

โดยจะเดินหน้าเบิกจ่ายต่อเนื่องตามกรอบวงเงินที่ระบุไว้ในปีนี้ 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างตรงจุด

โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค.65 พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มีวงเงินเหลืออยู่ 74,285 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 67 โครงกการ วงเงินรวม 425,714 ล้านบาท โดยมีผลการเบิกจ่ายแล้ว 339,342 ล้านบาท คิดเป็น 79.71% ขณะที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้มีการกู้เงินแล้ว 398,166 ล้านบาท