กรุงไทย ชี้ ลุ้นประชุม กนง.-เงินเฟ้อสหรัฐฯ ทำเงินบาทขยับแข็งค่า

กรุงไทย ชี้ ลุ้นประชุม กนง.-เงินเฟ้อสหรัฐฯ ทำเงินบาทขยับแข็งค่า

ธนาคารกรุงไทย ประเมินกรอบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ 34.10-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ลุ้นประชุมกนง.ปรับจีดีพี เปลี่ยนโทนขึ้นดอกเบี้ย พร้อมเกาะติดตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนพ.ค.

วันที่ 5 มิถุนายน 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 6-10 มิถุนายน 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.10-34.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ซึ่งเป็นประเด็นไฮไลท์ คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันพุธที่ 8 มิถุนายนนี้ เพราะจะมีการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี)

หากธปท.มีการปรับตัวเลขที่กว่าคาดการณ์รอบที่แล้ว ภายใต้เงินเฟ้อที่สูงขึ้น อาจทำให้เห็นธปท.เปลี่ยนโทนมุมมองต่อการปรับดอกเบี้ยขึ้นได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดรอดูอยู่

นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญอีกตัว จะเป็นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคม โดยตลาดคาดการณ์อยู่ที่ 5.7% และเงินเฟ้อ Core CPI อยู่ที่ 2.2% โดยตลาดรอดูว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหรือไม่

โดยหากตัวเลขออกมาชะลอตัวลง สะท้อนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะไม่จำเป็นต้องรีบเร่งขึ้นดอกเบี้ยเยอะ ถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าราคาพลังงานหรือน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงปรับเพิ่มขึ้นมาเกือบ 9% และหากคิดเป็นสัดส่วนบนนำ้หนักเงินเฟ้อสูงถึง 15%

ดังนั้น คาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อน่าจะออกมาสูงกว่า 6% ทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าและยังคงมีความผันผวนจนกว่าจะถึงการประชุมเฟดในวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้

นอกจากนี้ มีประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งตลาดรอดูว่าจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยเลนได้หรือไม่ หรือเป็นการส่งสัญญาณปรับขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยคาดว่าจะปรับขึ้นสอดคล้องกับเฟดที่ระดับ 0.50% ซึ่งหากมีการส่งสัญญาณในลักษณะนี้จะทำให้คนโฟกัสอียูมากขึ้น ทำให้ค่าเงินแข็งค่าได้ เช่นเดียวกับประเทศจีน หากมีการเปิดประเทศจะส่งผลต่อบวกต่อตลาดเอเชียพอสมควร

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นมีแรงขายสุทธิ 6,080 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) มียอดซื้อสุทธิ 560 ล้านบาท โดยทิศทางสัปดาห์หน้าคาดว่าอาจเห็นเงินไหลเข้าตลาดบอนด์ได้ เนื่องจากมีการประมูลบอนด์วงเงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจเห็นแรงขายสลับเข้ามาซื้อได้บ้าง โดยคาดมีเงินไหลเข้ามามากว่า 5,000 ล้านบาท

“ต้นสัปดาห์เราอาจจะเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าได้ และพอปลายสัปดาห์ลุ้นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ว่าจะลงหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้บาทอ่อนค่าได้ แต่หากเฟดและอีซีบีมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น มีโอกาสบาทกลับมาแข็งค่าได้เช่นกัน เพราะเราเริ่มเห็นมีแรงเทขายบอนด์ระยะสั้น เพื่อทำกำไร หลังจากเก็งค่าเงินบาทระยะสั้น เพราะวิวต่างประเทศรอเชียร์บาทแข็งค่าอยู่”