บาทแข็งค่า หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด

เงินบาท

เงินบาทแข็งค่า หลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด และยังจะขึ้นอีกในการประชุมครั้งหน้า เหตุเงินเฟ้อยังพุ่งสูง ขณะที่เงินบาทยังอ่อนค่า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสดีที่ 16 มิถุนายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/6) ที่ระดับ 34.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/6) ที่ระดับ 35.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมวันนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537 คณะกรรมการ FOMC ทุกรายเห็นชอบต่อมติดังกล่าวยกเว้นนางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟดสาขาแคนซัส ซิตี้ ซึ่งสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50%

นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566 และชะลอตัวสู่ระดับ 3.4% ในปี 2567 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%

แถลงการณ์ของของเฟดยังระบุว่า เฟดจะทำการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน หลังจากที่ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. และนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เฟดจะเพิ่มวงเงินในการลดขนาดงบดุลเป็น 2 เท่า สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

ขณะเดียวกัน เฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 1.7% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.8% ในเดือน มี.ค. และคาดว่าจะขยายตัว 1.7% ในปี 2566

นอกจากนี้ เฟดคาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% และจะชะลอตัวสู่ระดับ 2.6% และ 2.2% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.92-35.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (16/6) ที่ระดับ 1.0438/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อพุธ (15/6) ที่ระดับ 1.0484/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังเฟดตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ทำให้ความน่าดึงดูดในการถือเงินสกุลเงินยูโรลดลง ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0381-1.0470 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0417/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/6) ที่ระดับ 134.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/6) ที่ระดับ 134.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มการประชุมนโยบายการเงินวันแรกในวันนี้ และจะแถลงมติการประชุมในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า BOJ จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultraeasy Monetary Policy) ต่อไป

อย่างไรก็ดี นักลงทุนในตลาดการเงินกำลังจับตาดูว่า BOJ จะเปลี่ยนแปลงมุมมองเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและเงินเยนที่ทรุดตัวลงอย่างหนักในขณะนี้หรือไม่ โดยวิกฤตการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่ BOJ ใช้นโยบายผ่อนคลายการเงิน ทั้งนี้ คณะกรรมการ BOJ จัดการประชุมเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) พุ่งขึ้นเหนือระดับ 2% เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีในเดือน เม.ย. ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของ BOJ

และยังเป็นการประชุมที่เกิดขึ้นหลังจากที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่าผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นสามารถยอมรับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ได้แล้ว ซึ่งทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมเมื่อวานนี้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.57-134.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 132.56/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐ (14/6), ดัชนียอดขายปลีกสหรัฐ (15/6), อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ (15/6) ดัชนีภาคการผลิตฟิลาเดลเฟีย (16/6)

สำหรับอัตราป้องกันความสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.70/-1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.3/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ