สภาพัฒน์มั่นใจปี’65 จีดีพีโต 3% แนะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ รับมือวิกฤต

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

สภาพัฒน์มั่นใจปี’65 เศรษฐกิจโต 3% คาดนักท่องเที่ยวกลับมา 7-10 ล้านคน รับเงินเฟ้อ กระทบผู้มีรายได้น้อย เล็งออกมาตรการดูแล ชี้รัฐอุ้มราคาน้ำมันถึงสิ้นเดือนนี้ทะลุ 1 แสนล้านบาท ขอความร่วมมือประชาชนประหยัดพลังงาน ส่วนระยะถัดไปต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ รับมือวิกฤต

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand” ในงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดย หนังสือพิมพ์มติชน ว่าขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเผชิญกับวิกฤตที่ซับซ้อนมากขึ้น จาก 2 ปีที่ผ่านมา โควิดแพร่ระบาด ต่อมาเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และขณะนี้มีปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีผลทำให้ราคาน้ำมันขยับขึ้น และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงสงครามรัสเซียและยูเครน

“จุดนี้เป็นสิ่งที่ในระยะข้างหน้าประเทศไทยต้องวาง position ให้ดี ซึ่งตอนนี้เราพยายามวาง position ว่าเราสามารถเป็นตัวประสานกับทุกประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปขัดแย้งกับใคร และจะต้องพยายามสร้างความสมดุลในส่วนเหล่านี้ให้ดี โดยกำลังดำเนินการอยู่”

อย่างไรก็ดี ยังมองว่าในปี 2565 นี้ เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ 3% ตามที่ประมาณการไว้แน่นอน ซึ่งก็ได้มีการหารือกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มองตัวเลขเดียวกัน โดยเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การส่งออก ซึ่งขณะนี้ยังได้รับอานิสงส์ แม้สงครามรัสเซียและอยู่เครน จะเป็นความเสี่ยง แต่ก็เป็นโอกาสให้กับภาคส่งออก โดยเฉพาะในด้านอาหาร ขณะที่การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาหลังจากมีการเปิดประเทศ โดยในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยแล้ว 2 ล้านคน คาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 7-10 ล้านคน ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนี้ชี้วัดในช่วงเดือน เม.ย. 65 ก็ชี้ให้เห็นว่าในด้านการบริโภคภาคเอกชน ยังเติบโต อยู่ที่ 8% แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศมีการขับเคลื่อนที่ดี และการลงทุนภาคเอกชนยังสามารถเดินหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาในเรื่องดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เนื่องจากกังวลเรื่องเงินเฟ้อและราคาพลังงาน ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ โดยราคาพลังงานเป็นปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ แต่ก็ต้องมีมาตรการดูแล

“ในปีนี้เราคาดว่าเศรษฐกิจจะโตได้ 3% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 3.7% หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมไม่เหมือนประเทศอื่นที่ฟื้นจากวิกฤตขึ้นมาแล้วโต 5-6% ต้องเรียนว่า ปัจจุบันนี้จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการขยายภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น โครงสร้างการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับประเทศ 17-20% แต่ปีที่แล้วรายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาครอบคลุมช่องว่างที่เกิดขึ้น ฉะนั้น หากปีนี้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ 7-10% และการส่งออกยังไปได้ดี ก็คาดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น”

ส่วนเรื่องเงินเฟ้อในประเทศไทยนั้น ขณะนี้อยู่ที่ 7.1% ซึ่งประเทศไทยเคยเงินเฟ้อสูงสุด 9.1% ในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา สำหรับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากด้านราคาพลังงาน ส่วนเรื่องอาหารก็เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มากนัก ซึ่งอาจจะกระทบกลุ่มมีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งค่าครองชีพของประชาชน อย่างไรก็ดี ขณะนี้ในส่วนของผู้ผลิตยังไม่ส่งผ่านทางด้านต้นทุนออกมาทางฝั่งผู้บริโภคมาก แต่ก็ต้องมีวิธีเข้าไปช่วย มิฉะนั้น ธุรกิจจะเดินต่อไม่ได้ หากไม่มีการปรับราคาเลย ดังนั้น การปรับราคาอาจเกิดขึ้น แต่จะต้องมีการเฉลี่ยกับราคาต้นทุนเช่นกัน

ทั้งนี้ ล่าสุด คณรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการดูแลพลังงานต่อเนื่อง 8 มาตรการ โดยหลายเรื่องรัฐบาลแบกรับต้นทุนไว้ และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้เงินในการช่วยเหลือค่าแก๊ส LPG ภาคครัวเรือน ช่วยการอุดหนุนราคาน้ำมัน เพื่อให้ราคาน้ำมันไม่สูงเกินไป หากเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ดีเซลแตะ 40 บาท/ลิตร ขณะที่สิงคโปร์ 65 บาท/ลิตร ซึ่งปล่อยตามกลไกลตลาด ขณะที่ประเทศไทยพยายามที่จะลดต้นทุนส่วนนี้ลง ให้กับภาคธุรกิจและประชาชน โดยภาระที่เกิดขึ้นของกองทุนน้ำมันฯ หากสิ้นเดือนนี้ น่าจะประมาณ 1 แสนล้านบาท ฉะนั้น จึงขอความร่วมมือให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน

นายดนุชากล่าวว่า ในระยะถัดไปมีปัจจัยท้าทาย ทั้งดิจิทัลดิสรัปชั่น สังคมสูงวัย แต่เรื่องที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น คือ การแบ่งขั้วของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเล็กไม่สามารถแบ่งข้างได้ ฉะนั้น จะต้องยืนอยู่จุดที่สามารถได้ประโยชน์มากที่สุด ดังนั้น ระยะถัดไป เพื่อแก้ปัญหาตัวเราเอง ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ จะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง และสร้างมากต้านทานกับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ ประเทศไทยจะต้องปรับฐานการผลิต สร้างจุดขายใหม่ ๆ สศช. จึงได้วางหมุดหมายไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13

“ช่วงที่ผ่านมาแผนยังไม่บังคับใช้ แต่หลายเรื่องเราทำเตรียมไว้แล้ว เพื่อให้เป็นโอกาสของภาคธุรกิจในการเดินไปข้างหน้า ทั้งการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค และกำลังคุยกับ BOI ที่จะออกมาตรการสร้างแรงจูงใจดึงนักลงทุนเข้ามา ขณะเดียวกันเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าก็มีการขับเคลื่อนเช่นกัน โดยเตรียมแพ็กเกจอีวี 3 โดยอยู่ระหว่างหารือนำนักลงทุนเข้ามา จะเป็นส่วนขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในอนาคต และในแง่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พยายามดึงอุตสาหกรรมชิปขั้นต้นเข้ามา เพื่อแก้ปัญหาดิสรัปชั่นซัพพลายเชนในอนาคต”