คลังแก้ปมมั่วอุทธรณ์ผลประมูล ชงคิดค่ายื่นคำร้องสูงสุด 2 แสนบาท

กรมบัญชีกลาง

กรมบัญชีกลางลุยแก้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ คิดค่าธรรมเนียมการยื่นอุทธรณ์ผลจัดซื้อจัดจ้าง ป้องกันร้องมั่วส่งผลกระทบทำเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า เผยเปิดประชาพิจารณ์ได้ข้อสรุปออกมาแล้ว 2 แนวทาง “เก็บค่าธรรมเนียม 0.2% ไม่เกิน 2 แสนบาท” พร้อม “เก็บค่าใช้จ่ายในการอุทธรณ์ครั้งละ 1,000 บาท”

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้เดินหน้าแก้ไขปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาการอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ได้เป็นเหตุ เพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็น 1 ในอุปสรรคที่ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า โดยการแก้ไขกฎหมายได้มีการเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.-5 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา

“เราได้มีการเปิดประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นไปแล้ว โดยใช้ระยะเวลา 1 เดือน ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลรายละเอียด จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่อไป ซึ่งกรมบัญชีกลางจะพยายามเร่งดำเนินการ เพื่อผลักดันให้กฎหมายออกมามีผลบังคับใช้โดยเร็ว” น.ส.กุลยากล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 114 ได้บัญญัติการให้สิทธิแก่ผู้ที่ได้ยื่นข้อเสนอ เพื่อทำการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับหน่วยงานของรัฐมีสิทธิอุทธรณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุได้ ในกรณีที่เห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ.กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความใน พ.ร.บ.นี้ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้อุทธรณ์ไม่ได้รับการประกาศผลเป็นผู้ชนะ หรือไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2560 เป็นต้นมา ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีผู้ประกอบการยื่นอุทธรณ์ตามนัยมาตราดังกล่าวมาเป็นจำนวนมาก จนส่งผลกระทบทำให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีความล่าช้าไปอย่างมาก โดยประเด็นที่สำคัญ คือ ผู้อุทธรณ์ใช้สิทธิอุทธรณ์ โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริต เพื่อประวิงระยะเวลาไว้ หรือเพียงแค่อยากจะอุทธรณ์ตามสิทธิที่ตนมีตามกฎหมายเท่านั้น จนกลายเป็นการอุทธรณ์ที่ใช้สิทธิเกินขอบเขต

กรมบัญชีกลาง

“กรมบัญชีกลางจึงมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาการอุทธรณ์ โดยได้ศึกษาแนวทางการอุทธรณ์ของต่างประเทศ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการอุทธรณ์ของประเทศไทย ซึ่งแนวทางที่กรมบัญชีกลางเห็นว่าสามารถลดจำนวนอุทธรณ์ลงได้ คือ การเก็บค่าธรรมเนียมการอุทธรณ์ โดยในต่างประเทศได้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการอุทธรณ์เพื่อป้องกันข้อร้องเรียน หรือการอุทธรณ์ที่ไม่มีเหตุผล หรือกีดกันผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น หรือประสงค์จะให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นได้รับความเดือดร้อน” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการอุทธรณ์จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้แก่ 1.ค่าธรรมเนียมอุทธรณ์ในอัตรา 0.2% ของมูลค่าของโครงการจัดซื้อจัดจ้างของการอุทธรณ์ครั้งนั้น แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเทียบเคียงจากการเก็บค่าธรรมเนียมของศาลแพ่ง

และ 2.ค่าใช้จ่ายในการอุทธรณ์ ครั้งละ 1,000 บาท โดยพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์ เช่น ค่าใช้จ่ายการใช้กระดาษเอกสารในการนำเสนอที่ประชุม ค่าใช้จ่ายการใช้โทรศัพท์ในการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ ค่าใช้จ่ายการจัดส่งเอกสารหนังสือแจ้งตอบไปยังหน่วยงานของรัฐ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ส่งร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ในประเด็นการเรียกเก็บเงินสำหรับการอุทธรณ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพิจารณาแล้ว ทั้งปลัดกระทรวง, อธิบดี, อธิการบดี, เลขาธิการ, ผู้อำนวยการ, ผู้บัญชาการ, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ผู้ว่าการ, หัวหน้ารัฐวิสาหกิจ, ผู้บริหารท้องถิ่น และหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐ

“ขณะนี้ทางกรมอยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดทั้งหมด หลังจากที่มีการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นไป จากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่างแก้ไขกฎหมายต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ความคืบหน้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ 2565 ณ วันที่ 17 มิ.ย. 2565 มีการเบิกจ่ายแล้วกว่า 2.28 ล้านล้านบาท คิดเป็น 68.39% ของวงเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การเบิกจ่ายจากรายจ่ายประจำ 1.85 ล้านล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 2.72 แสนล้านบาท