“ไทยประกันชีวิต” สู้ดิสรัปต์ เข้าเทรดตลาดหุ้น-ลุ้นติดโผ SET50

ไชย ไชยวรรณ

“ไทยประกันชีวิต” ธุรกิจประกันที่คุ้นหูคนไทยมา 80 ปี กำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญโดยกำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหุ้นไทยในปี 2565 โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงถึง 183,200 ล้านบาท ติดอยู่ในท็อป 25 ของตลาดหุ้นไทยแล้ว ยังเป็นหุ้นไอพีโอของบริษัทประกันภัยและประกันชีวิต ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดทุนไทย รวมถึงยังเป็นหุ้นไอพีโอของธุรกิจประกันภัยที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

เข้าเทรด ก.ค. ลุ้นติดโผ SET50

โดย “อนุวัฒน์ ร่วมสุข” กรรมการผู้จัดการ ประธานสายวาณิชธนกิจและตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) เปิดเผยว่า TLI จะเสนอขายหุ้นไอพีโอทั้งสิ้น 2,155 ล้านหุ้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.หุ้นใหม่เพิ่มทุน 850 ล้านหุ้น และ 2.หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท วี.ซี. สมบัติ จำกัด และ Her Sing (H.K.) Limited ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้เสนอขายหุ้นรวม 1,305 ล้านหุ้น และมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินอีก 161 ล้านหุ้น โดยที่ Her Sing (H.K.) Limited เป็นผู้ให้ออปชั่นในการจัดสรรหุ้นครั้งนี้ โดย บล.เกียรตินาคินภัทร จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินและดำเนินการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น

“คาดว่าหุ้น TLI จะเข้าซื้อขายวันแรกในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ค. 2565 โดยมีลุ้นจะทำ fast track เข้าดัชนี SET50 ทันที หากราคาปิดซื้อขายวันแรกมีขนาดมาร์เก็ตแคปใหญ่เป็น 20 ลำดับแรกของหุ้นในดัชนี SET50 หรือมีขนาดมาร์เก็ตแคปเกิน 1% ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาดที่ 18.6 ล้านล้านบาท” นายอนุวัฒน์กล่าว

ตารางไทยประกันชีวิตขายIPO

หุ้น IPO ไม่ขายเป็นการทั่วไป

ปัจจุบันจำนวนหุ้นของไทยประกันชีวิต มีอยู่ทั้งสิ้น 10,600 ล้านหุ้น โดยครอบครัว “ไชยวรรณ” ถือครองทั้งทางตรงและถือผ่านบริษัทลงทุนรวมกัน 85% ส่วนที่เหลืออีก 15% ถือหุ้นโดยบริษัท เมจิยาสุดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจที่สำคัญของไทยประกันชีวิต ซึ่งการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้อยู่ที่ 2,155 ล้านหุ้น และจะเปิดให้จองซื้อเฉพาะลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่าย (บล. 13 ราย และแบงก์ 1 ราย) ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-6 ก.ค. 2565 (เฉพาะวันทำการ)

“สัดส่วนการจัดสรรหุ้นเบื้องต้น เป็นกลุ่มสถาบัน ทั้งในและต่างประเทศสัดส่วน 61% มีนักลงทุนสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้าทำสัญญาลงทุน เช่น GIC Private Limited, Oaktree Capital Management เป็นต้น ที่เหลืออีก 39% เป็นบุคคลธรรมดา ถือว่าเป็นการกระจายหุ้นอย่างเหมาะสม โดยบริษัท เมจิยาสุดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ จะรักษาสัดส่วนการถือหุ้นตามเดิมที่ 15%” นายอนุวัฒน์กล่าว

ระดมเงินลงทุนปรับตัวสู้ดิสรัปต์

โดย “ไชย ไชยวรรณ” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TLI กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อ business landscape ของธุรกิจประกันชีวิต เช่น การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำให้ลูกค้ามีความอดทนน้อยลง

ขณะเดียวกันลูกค้าต้องการสินค้าและบริการเฉพาะบุคคลมากขึ้นในราคายุติธรรม รวมถึงผลพวงจากโควิดทำให้ลูกค้าสนใจประกันสุขภาพมากขึ้น และการเกิดขึ้นของช่องทางการขายที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งสังคมผู้สูงอายุที่ก้าวเข้าสู่สังคมไทย

“นอกจากนี้ คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด รับมือยากที่สุด และคาดเดายากที่สุด คือ คู่แข่งที่ไม่ได้ทำธุรกิจแบบเดียวกับเรา แต่สามารถเข้ามาแย่งชิงตลาดไปจากลูกค้าของเราด้วยแพลตฟอร์มใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้เราเชื่อว่าถ้ารับมือเป็น ธุรกิจของเราจะไม่เป็นอดีต แต่จะอยู่กับปัจจุบัน แล้วจะยั่งยืนในอนาคต จึงเป็นที่มาให้เราทบทวนวิสัยทัศน์ เพื่อให้ไทยประกันชีวิตดำเนินธุรกิจจากนี้ต่อไป ต้องเป็นมากกว่าการประกันชีวิต โดยมุ่งสู่การเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต การประกันสุขภาพ และการวางแผนการเงินในทุกช่วงชีวิต พร้อมกับทรานส์ฟอร์มตัวเองสู่การเป็น data driven company เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นองค์กรหรือบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน” นายไชยกล่าว

ทั้งนี้ จากการขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้ บริษัทมีแผนนำเงินไปลงทุนประมาณ 13,600 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.การลงทุนในดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น 2,000 ล้านบาท 2.เสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางการจัดจำหน่ายและพันธมิตรธุรกิจ 5,400 ล้านบาท และ 3.เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุนและเป็นทุนหมุนเวียนอีก 6,200 ล้านบาท

จังหวะดอกเบี้ยขาขึ้นหนุนกำไร

ขณะที่ “วรางค์ ไชยวรรณ” กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TLI กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมความพร้อมที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมากว่า 6-7 ปี เวลานี้แม้ตลาดจะผันผวน แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจประกันชีวิต เพราะดอกเบี้ยเป็นเทรนด์ขาขึ้น จะส่งผลให้ธุรกิจประกันมีกำไรที่มากขึ้น

อย่างไรก็ดี บริษัทได้เริ่มปรับพอร์ตสินค้ามาตั้งแต่ปี 64 เน้นขายแบบประกันชนิดมีเงินปันผล(participating policy) และประกันชีวิตควบการลงทุน (investment linked) ซึ่งไม่อ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ย เพื่อทำให้กำไรในระยะยาวมีเสถียรภาพ หากในอนาคตเทรนด์ดอกเบี้ยเป็นขาลงก็ยังสบายใจได้

ขณะที่หลังโควิด-19 เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ประกอบกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย จะทำให้คนสนใจทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพมากขึ้น อุตสาหกรรมประกันชีวิตจึงมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากปัจจุบันคนไทยมีอัตราผู้ซื้อกรมธรรม์ต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมาก หรือมี penetration rate เพียงแค่ 3.8% ขณะที่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอเมริกา มีสัดส่วนสูงถึง 10.2%, 7.2%, 4.2%, 5.5% (ตามลำดับ) โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเบี้ยประกันรับปีแรกของไทยจะเติบโตเฉลี่ยได้ 8.3% ต่อปี ตั้งแต่ปี 64-69

โดยปัจจุบันบริษัทมีกรมธรรม์บังคับใช้มากถึง 4.4 ล้านฉบับ มีตัวแทนซึ่งเป็นช่องทางขายหลักกว่า 6.4 หมื่นคน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 49.6% มาจากแบงก์แอสชัวรันซ์ 40% ที่เหลือ 10.4% มาจากช่องทางพันธมิตร อาทิ ลีสซิ่ง, บริษัทสินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งปัจจุบันกำลังพัฒนาช่องทาง online marketplace และช่องทาง worksite marketing ตามโรงงานบริษัทญี่ปุ่น

นอกจากนี้ มีสาขาและศูนย์บริการ 260 แห่ง มีเบี้ยรับรวมเมื่อสิ้นปี 2564 อยู่กว่า 90,451 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งรายได้ของเบี้ยรับรวมติดท็อป 3 ที่มีขนาดใหญ่สุดในไทยมาต่อเนื่องในช่วง 10 ปี

“ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 109,246 ล้านบาท กลับมาใกล้เคียงช่วง 3 ปีก่อน แต่สามารถทำกำไรสูงสุด ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท แตะระดับ 8,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน” นางวรางค์กล่าว

โดยมีสินทรัพย์รวมอยู่กว่า 5 แสนล้านบาท สัดส่วนกว่า 93% บริหารพอร์ตเอง โดยประมาณ 87% ลงทุนในตราสารหนี้, เงินให้กู้ยืม และเงินฝากธนาคาร ส่วนที่เหลืออีก 13% ลงทุนในตราสารทุน ผลตอบแทนสิ้นปี 64 อยู่ที่ 4.2% ปัจจุบันมีระดับเงินกองทุน(CAR) สูงถึง 361% ค่อนข้างมีความมั่นคงทางการเงิน โดยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากฟิทช์ เรทติ้งส์ ระดับ A- (สากล) และ AAA (ในประเทศ)

นับเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญของ “ไทยประกันชีวิต” ที่กำลังจะปรับตัวจากธุรกิจแบบ “ครอบครัว” ไปสู่ “มหาชน” มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถรับมือกับการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงขึ้นได้อย่างยั่งยืน