ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังรายงานเฟดยืนยันเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย สกัดเงินเฟ้อ

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง หลังรายงานประชุมเฟดยืนยันเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย สกัดเงินเฟ้อ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/7) ที่ระดับ 36.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/7) ที่ระดับ 36.07/09 บาท หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 14-15 มิถุนายน โดยระบุว่า กรรมการเฟดยังคงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมเงินเฟ้อ แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม

โดยกรรมการเฟดเชื่อว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมเดือนกรกฎาคม ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม และมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ โดยดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นทะลุระดับ 107 ทำสถิติสูงสุดระดับใหม่ในรอบ 20 ปี

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve อีกครั้งเมื่อคืนนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.7 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. จากระดับ 53.4 ในเดือนพฤษภาคม และดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 55.3 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.3 หลังจากแตะระดับ 55.9 ในเดือน พ.ค.

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 427,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 11.3 ล้านตำแหน่งในเดือน พ.ค. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 11.0 ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 250,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ต่ำกว่าระดับ 390,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานเดือน มิ.ย.จะทรงตัวที่ระดับ 3.6% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.07-36.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตาดที่ระดับ 35.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/7) ที่ระดับ 1.0182/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อพุธ (6/7) ที่ระดับ 1.0230/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0175-1.0220 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0190/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/7) ที่ระดับ 135.63/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (6/7) ที่ระดับ 135.29/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.56-136.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 136.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือน มิ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดนำเข้า ส่งออกดุลการค้าเดือน พ.ค. รวมทั้งการเปิดตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.25/-4.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.85/-3.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ