ลุ้นผลเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% หนุนบาทอ่อนค่าหลุด 37 บาท/ดอลลาร์

ดอลลาร์

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าในกรอบ 36.30-37.15 บาทต่อดอลลาร์ จับตาผลประชุมเฟด-จีดีพีไตรมาส 2 ของสหรัฐ คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% มาอยู่ที่ 2.25-2.5% ส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์เจอแรงเทขายกำไรช่วงสั้น

วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 25-29 กรกฎาคม 2565) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 36.30-37.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามและมีผลกับตลาดค่อนข้างจะเป็นการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26-27 ก.ค. 65 นี้ ซึ่งจะตรงกับช่วงวันหยุดของไทย จึงมีโอกาสเห็นเงินบาทผันผวนสูง

โดยตลาดยังคงดูการส่งสัญญาณของเฟดในการประชุม ซึ่งอาจจะเห็นดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (DXY) พักฐานได้ หลังจากขึ้นไปที่ระดับ 109 จุด หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ขณะที่ฝั่งยุโรปยังคงมีความเสี่ยงด้านปัจจัยพลังงาน แม้ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ก็ตาม จะเห็นว่าค่าเงินยูโรแข็งค่าได้ไม่นายก็กลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นซื้อสุทธิอยู่ที่ 889 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิอยู่ที่ 2,455 ล้านบาท ทำให้ในช่วงกลางสัปดาห์เงินบาทจึงเคลื่อนไหวอ่อนค่า

ทั้งนี้ ประเมินฟันด์โฟลว์สัปดาห์หน้าในตลาดหุ้นและบอนด์จะเริ่มทรงตัว เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ปรับลดลง ทำให้นักลงทุนทยอยทำกำไรไปแล้วก่อนจะมีประชุมเฟด จึงคาดว่าตลาดบอนด์น่าจะขายสุทธิไม่เกิน 1,000 ล้านบาท และตลาดหุ้นซื้อเล็กน้อย แต่โดยภาพรวมทั้งสองตลาดจะเป็นซื้อสุทธิไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์

“สัปดาห์หน้าเรามีวันหยุด 2 วัน ซึ่งมีโอกาสเงินบาทจะผันผวนสูง โดยเราให้กรอบที่ 36.30-37.00 บาทต่อดอลลาร์ ในบางช่วงอาจเห็นโฟลว์จากทองคำเทขายทำกำไร เพราะราคาทองมีโอกาสเห็น 1,730-1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งขึ้นมาจากระดับ 1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ถือว่ามีกำไรแล้ว 5-6% ทำให้บาทอาจมีโอกาสไปเทสที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่คงไม่ค้างนาน”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 36.50-37.15 บาทต่อดอลลาร์ โดยเหตุการณ์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 27 ก.ค.นี้ โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 2.25-2.5% หากเป็นไปตามคาด จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงขายทำกำไรช่วงสั้น นอกจากนี้ยังมีตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 2 ของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี หากสังเกตเงินบาทที่อ่อนค่ามากรอบนี้ พบว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไม่ได้บ่งชี้ว่าจะมีการเทขายสินทรัพย์สกุลเงินบาทอย่างตื่นตระหนก แต่ในทางด้านจิตวิทยา และท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังคงระมัดระวังต่อการขึ้นดอกเบี้ย และการประเมินของทางการที่ว่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ทำให้ผู้นำเข้าเร่งซื้อดอลลาร์ ในทางกลับกันผู้ส่งออกเลือกที่จะรอ นอกจากนี้ ราคาทองคำในตลาดโลกที่ลดลงแรงในช่วงกลางสัปดาห์นี้กระตุ้นแรงซื้อดอลลาร์จากผู้ค้าทองในประเทศอีกทางหนึ่ง

“เงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง แตะระดับอ่อนค่าสุดรอบ 16 ปี ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้า นำโดยสัญญาณคุมเข้มนโยบายของเฟดที่ยังแข็งกร้าว ราคาน้ำมันสูงแม้จะย่อลงมาบ้างแล้วก็ตาม รวมถึงการขาดดุลการชำระเงินของไทย”