รัฐแจกเงินเพิ่ม 3 หมื่นล้านบาท เติมกำลังซื้อสู้ “เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น”

 

รัฐบาลทุ่มเงินกู้ 2.7 หมื่นล้านบาท เติมเงินครัวเรือน-เพิ่มกำลังซื้อกลุ่มเปราะบางรวม 42 ล้านคน ผ่าน 3 โครงการ หวังเงินสะพัดเข้าระบบเฉียด 5 หมื่นล้านบาท ปลุกจีดีพี 0.13% หนุนภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเติบโตได้ที่ระดับ 3.5% สู้ภาวะเงินเฟ้อ-ค่าครองชีพพุ่ง-ดอกเบี้ยขาขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อและลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3

และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ใช้งบประมาณรวม 27,427 ล้านบาท จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท)

“จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายดี ร้านค้ายังได้รับผลกระทบ และราคาสินค้าก็แพงขึ้น ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อของประชาชน กระทรวงการคลังจึงมองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือส่วนนี้ โดยทั้ง 3 โครงการจะมีเม็ดเงินลงเศรษฐกิจกว่า 48,628 ล้านบาท ดูแลประชาชนครอบคลุม 42 ล้านคน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจในปี 2565 ขยายตัวได้กว่า 0.13% ถือเป็นโครงการเพิ่มกำลังซื้อลอตสุดท้ายของโครงการเงินกู้ แต่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ส่วนจะดำเนินการโครงการอะไรต่อ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้อีกหนึ่งเหตุผลที่ออกมาตรการมาดูแลเรื่องกำลังซื้อ เนื่องจากต้องการลดผลกระทบจากทิศทางดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาขึ้น เพราะหากปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่ม ก็จะส่งผลต่อระดับราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อด้วย แม้ภาวะเงินเฟ้อของไทยจะมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าและราคาพลังงาน ไม่ใช่จากความต้องการบริโภคที่มากเกินไป ซึ่งจากวิกฤตซ้อนวิกฤต จากโควิดและราคาพลังงาน ที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่ง

“ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่รัฐบาลต้องออกมาตรการเข้ามาช่วยในเรื่องของกำลังซื้อ ซึ่งประเมินว่าหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะใช้เวลาส่งผ่านไปถึงดอกเบี้ยของสถาบันการเงินประมาณ 3-6 เดือน เมื่อถึงเวลานั้นก็จะกระทบต่อต้นทุนของผู้ที่กู้เงินแน่นอน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือสถาบันการเงินในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ อย่าให้กระทบกับลูกค้ามากเกินไป” นายอาคมกล่าว

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า 3 โครงการดังกล่าว จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดย 1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 จะมีผู้ได้รับสิทธิไม่เกิน 13.34 ล้านคน

2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 ไม่เกิน 2.23 ล้านคน และ 3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 อีกไม่เกิน 26.5 ล้านคน

ทั้งนี้ ผู้ที่จะใช้สิทธิ ต้องเลือกใช้สิทธิเพียงโครงการใดโครงการหนึ่งเท่านั้น โดยหากจะรับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 25 ส.ค. 2565 โดยหากผู้มีบัตรสวัสดิการ จะใช้โครงการคนละครึ่ง ต้องนำบัตรไปคืนที่กรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลังจังหวัด ภายในวันที่ 15 ส.ค. 2565 เวลา 16.30 น. (ปิดตามเวลาราชการ)

นายพรชัยกล่าวด้วยว่า สศค.ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะยังขยายตัวได้ที่ 3.5% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.0-4.0%) ซึ่งเป็นผลมาจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจ 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การท่องเที่ยว ที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 8 ล้านคน มีรายได้เข้าประเทศ 4.3 แสนล้านบาท และค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 53,000 บาทต่อคน

ขณะที่การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.8% รายได้เกษตรกรที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีตามราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออก ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 7.7%

“อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 1) ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งส่งผ่านไปยังต้นทุนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ 2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลก และ 3) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19” นายพรชัยกล่าว