36 สถาบันการเงิน วางกฎเหล็กเข้มเปิดบัญชี สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์-มิจฉาชีพ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 มกราคม ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. แถลงผลการประชุมหารือการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างสถาบันทางการเงิน 36 แห่ง ปปง. ธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมการปกครอง เพื่อทำความเข้าใจกันและกำหนดมาตรการเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมายฟอกเงินอย่างเคร่งครัด

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้สำนักงาน ปปง. เชิญธนาคารแห่งประเทศไทยทั้ง 36 แห่ง มาร่วมประชุมเพื่อทำความเข้าใจและกำหนดมาตรการเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายฟอกเงิน โดยกำหนดมาตรการ 3 ข้อหลักคือ 1.ให้เพิ่มความเข้มเกี่ยวกับมาตรการในการแสดงตนและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงของผู้เปิดบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดหลักเกณฑ์การแสดงตนของลูกค้านั้นจะต้องแสดงข้อมูลและหลักฐานอย่างน้อย 7 อย่าง ประกอบด้วย 1.ชื่อ-สกุล 2.วันเดือนปีเกิด 3.เลขประจำตัวประชาชน 4.ที่อยู่ตามทะเบียนและที่อยู่ปัจจุบัน 5.อาชีพ สถานที่ทำงาน 6.ข้อมูลการติดต่อ 7.ลายมือชื่อผู้ทำธุรกรรม รวมถึงการตรวจสอบทางกายภาพ อาทิ รูปร่างหน้าตากับหลักฐานต่างๆ ที่นำมาแสดงว่าตรงกันหรือไม่ นอกจากนี้ขอให้สถาบันทางการเงินประสานกับกรมการปกครองเรื่องการติดตั้งโปรแกรมตรวจสอบสถานะของบัตรประชาชน ว่าเป็นบัตรที่สามารถใช้ได้อยู่หรือไม่ มีการยกเลิกเพิกถอนหรือแจ้งหายไว้หรือไม่

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวต่อว่า 2.ให้สถาบันการเงินกำหนดมาตรการในการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าในความรับผิดชอบ เพื่อทราบข้อเท็จเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่ยังสอดคล้องกับข้อมูลลูกค้าเจ้าของบัญชีหรือไม่ โดยทางสถาบันการเงินจะทำการติดต่อไปยังเจ้าของบัญชีตามที่อยู่ที่ปรากฏตามทะเบียนราษฎร์ เพื่อให้ยืนยันและรับรองสถานะบัญชีดังกล่าว หากเจ้าของบัญชีไม่ทำการยืนยันและรับรองสถานะทางบัญชี ทางสถาบันการเงินจะดำเนินการเฝ้าระวังบัญชีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและประสานมายังสำนักงาน ปปง. และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวอีกว่า 3.มาตรการป้องกันปราบปรามการรับจ้างเปิดบัญชี โดยสำนักงาน ปปง. ร่วมกับสถาบันการเงินตรวจสอบธุรกรรมและบัญชีต้องสงสัยว่าเข้าข่ายเป็นการรับจ้างเปิดบัญชีหรือเป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ ไม่ว่าเป็นกรณีของแก๊งคอลเซนเตอร์ ขบวนการค้ายาเสพติด การพนันออนไลน์หรือความผิดมูลฐานอื่นๆ หากสถาบันเงินพบว่ามีพฤติการณ์ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือเป็นการรับจ้างเปิดบัญชี ทางสถาบันทางการเงินจะรายงานมายังสำนักงาน ปปง. เพื่อขยายผลดำเนินคดีกับเจ้าของบัญชีดังกล่าว จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีบัญชีต้องสงสัยที่เข้าข่ายพฤติการณ์ดังกล่าวกว่า 4,000 บัญชี สำนักงาน ปปง. จะร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สืบสวนขยายผลเพื่อดำเนินการตามกฏหมายอย่างจริงจังต่อไป

“ฝากประชาสัมพันธ์ไปถึงพี่น้องประชาชนบางคนที่อาจถูกหลอกหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอให้รีบติดต่อประสานมายังสำนักงาน ปปง. โดยเร่งด่วนหรือสามารถแจ้งเข้ามาที่ ศปก.ปปง.สายด่วน 1710 นอกจากนี้ขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้กับบุคคลใกล้ชิดทราบถึงโทษในการรับจ้างเปิดบัญชี หากผู้ใดได้เคยให้บัญชีธนาคารและให้บัตรเอทีเอ็มกับมิจฉาชีพไปขอให้รีบติดต่อประสานมายังสำนักงาน ปปง. อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มมิจฉาชีพนำบัญชีดังกล่าวไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดเพราะหากคนร้ายได้นำบัญชีไปใช้ก็จะต้องถือเป็นผู้มีส่วนในการกระทำความผิดและถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที” รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าว

รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการตรวจสอบบัญชีกว่า 4,000 บัญชีที่มีความเสี่ยงนั้น ทางสำนักงาน ปปง.ได้ประสานงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันเงินต่างๆ ให้ตรวจสอบบัญชีที่มีการทำธุรกรรมไม่สอดคล้องกับผู้ทำบัญชี อาทิ การเปิดบัญชีจำนวนหลายบัญชี หรือการนำข้อมูลประจำตัวต่างๆไปเปิดบัญชีให้กับผู้อื่น ฯลฯ อาจจะเรียกผู้เปิดบัญชีมาสอบปากคำพร้อมทั้งตรวจสอบความเป็นอยู่ของผู้เปิดบัญชีว่ามีความสอดคล้องกับการทำธุรกรรมหรือไม่ หากพบว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงจะนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนขยายผลไปจนถึงกลุ่มมิจฉาชีพ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์