ไตรภาคีเคาะค่าแรง 26 ส.ค. ฝั่งนายจ้างต่อรองขอปรับแค่ 3-4%

แรงงาน
อัพเดตล่าสุด 24 สิงหาคม 2565 เวลา 18.34 น.

จับตาคณะกรรมการไตรภาคี 26 สิงหาคมนี้ ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง-ภาครัฐขานรับปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 5-8% พร้อมประกาศดีเดย์ขึ้นค่าจ้างรอบใหม่ 1 ตุลาคม 2565 เหมือนเดิม ขณะที่ฝ่ายนายจ้างยืนกรานขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำแค่ 3-4% พร้อมกับชะลอขอการขึ้นค่าจ้างไปเดือน ม.ค.-ก.พ. 66 อ้างส่งผลต่อต้นทุนทางธุรกิจ

นายพิจิตร ดีสุ่ย เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) 3 ฝ่าย คือนายจ้าง, ลูกจ้าง และรัฐบาล มาร่วมพูดคุยกันครั้งที่ผ่านมา (2 สิงหาคม 2565)

อันที่จริงน่าจะสรุปอัตราค่าจ้างได้แล้ว เพราะคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดส่งเรื่องพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปยังส่วนกลางแล้ว ทว่ามีอยู่ 3 จังหวัดไม่ขอขึ้นค่าแรงคือ อุดรธานี, มุกดาหาร และน่าน โดยอ้างเหตุผลว่าการขึ้นค่าแรงเพียง 5-8% ไม่ส่งผลต่อค่าครองชีพเท่าใดนัก

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์” ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ขอให้กลับไปทบทวนใหม่ เพราะถ้าจังหวัดข้างเคียงปรับขึ้น แต่อีก 3 จังหวัดไม่ขึ้น จะเกิดเป็นข้อครหา และส่งผลต่อปัญหาการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปยังจังหวัดที่มีค่าแรงสูงกว่า จนที่สุด จึงมีมติเพื่อนัดประชุมกันใหม่กันอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 ซึ่งวาระการประชุมหลัก ๆ คงเกี่ยวข้องกับผลสรุปการขึ้นค่าแรงครั้งนี้

“อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการวิชาการ และกลั่นกรองให้ความเห็นว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะปรับขึ้นที่ 16-17 บาท แต่ทางรัฐบาลบอกว่าจำนวนเท่านั้นอาจไม่เพียงพอต่อผู้ใช้แรงงาน เพราะ 2 ปีผ่านมาพวกเขาได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรจะขึ้น 5-8% (15.65-26.88 บาท) ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP)

ดังนั้น ถ้า GPP ของจังหวัดไหนสูง ค่าแรงอาจปรับขึ้นถึง 7-8% เช่น กทม. และปริมณทล รวมถึงจังหวัดชลบุรี, ระยอง และภูเก็ต เป็นต้น แต่ถ้าจังหวัดไหน GPP ใกล้เคียงกัน อาจมีการปรับขึ้นค่าแรงในสัดส่วนเท่า ๆ กัน แต่กระนั้นมีการคาดการณ์ว่าน่าจะปรับขึ้นค่าแรงในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว”

นายพิจิตรกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมไตรภาคียังมีการพูดถึงผลกระทบจากขึ้นค่าแรงต่อผู้ประกอบการ SMEs จนผลสรุปออกมาคือต้องให้ภาครัฐออกช่วยลดหย่อนมาตรการทางภาษี หรือให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะไม่เช่นนั้น ภาคธุรกิจ SMEs จะอยู่ลำบาก

ขณะที่นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) เปิดเผยว่า อัตราค่าแรงงานที่เตรียมปรับขึ้น 5-8% เป็นกรอบที่ค่อนข้างสูง “ผมว่าควรจะอยู่ในระดับ 3-4% เพราะหากขึ้นสูงกว่านี้ ผู้ประกอบการจะดำเนินธุรกิจลำบาก และผลกระทบจะไปถึงลูกจ้าง ส่วนกระแสปรับขึ้นค่าแรงในเดือนตุลาคม 2565 นี้ ผมมองว่าน่าจะทำได้ยาก เนื่องจากยังมีขั้นตอนกระบวนการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีส่วนกลาง จนไปถึงการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งกว่าจะมีมติออกมาคงต้องใช้ระยะเวลา”

“โดยส่วนตัว มองว่าควรปรับขึ้นค่าแรงประมาณต้นปี 2566 (มกราคม-กุมภาพันธ์) เพราะปี 2565 ภาคธุรกิจกำหนดงบประมาณสำหรับบริหารจัดการธุรกิจไว้ก่อนแล้ว หากมาเพิ่มต้นทุนในปีนี้จะเป็นผลกระทบให้ธุรกิจหยุดชะงักได้”

ส่วนนางสาวธนพร วิจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า ตอนแรกอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ตัวแทนฝั่งลูกจ้างเรียกร้องให้ปรับขึ้นคือ 492 บาท เท่ากันทุกจังหวัด เพราะไม่ได้ปรับมา 2 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาฝั่งนายจ้างคัดค้านและหากจะปรับในระดับ 3-4% ตามที่ฝั่งนายจ้างเสนอ ถือว่าไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ดังนั้นจึงอยากทวงถามรัฐบาลว่า นโยบายที่หาเสียงไว้เมื่อก่อนการเลือกตั้งที่บอกว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาท มาถึงตอนนี้อยากถามอีกครั้งว่า การคิดตัวเลขค่าจ้างอัตราดังกล่าวมาจากฐานอะไร และอยากให้ทำตามสิ่งที่ได้หาเสียงไว้กับผู้ใช้แรงงาน หากทำไม่ได้ตามที่หาเสียงไว้ ก็ไม่ควรปรับขั้นต่ำที่ 5-8% เพราะการขึ้นค่าจ้างจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กันด้วย ขณะเดียวกันก็ทำให้แรงงานมีแรงจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ และอยากให้ช่วยดูแลกลุ่มนายจ้าง SMEs เพราะพวกเขาไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีอากร”