คณะวิทย์กีฬา จุฬา ชี้แจงแล้ว ปม #โตโน่ ใช้อุโมงค์น้ำของคณะ

วิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ ยอมรับให้ โตโน่ ภาคิน ใช้อุโมงค์น้ำฟรี เนื่องจากอุโมงค์น้ำยังซ่อมแซมไม่เรียบร้อย​ดี ยืนยันอุโมงค์น้ำได้นำมาใช้กับนิสิตในการเรียนรู้และการวิจัย

วันที่ 20 ตุลาคม 2565 จากกรณีการปรากฏภาพศิลปินหนุ่ม โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ขณะเข้าทดสอบสมรรถภาพความพร้อมของร่างกาย และกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ของเหล่านิสิตคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น

ล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Chula SPSC ถึงกรณีดังกล่าวว่า “ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุโมงค์​น้ำมีการชำรุดและต้องการการซ่อมแซม หลังจากสถานการณ์​การระบาดของโรคโควิดคลี่คลาย คณะจึงได้ซ่อมแซม​เพื่อใช้สำหรับการเรียน​การสอน การทำวิจัย และการบริการวิชาการ ซึ่งในขณะที่มีการซ่อมแซม​อุโมงค์​น้ำนั้น ทางคณะได้รับการติดต่อจากทีมงานของคุณภาคิน เพื่อขอรับบริการการทดสอบสมรรถภาพ​ทางกายและขอใช้อุโมงค์​น้ำเพื่อฝึกซ้อม

ในเบื้องต้นคณะมีความตั้งใจที่จะคิดค่าใช้จ่ายตามระเบียบ แต่เมื่อใช้งานจริง ทางคณะเห็นว่าอุโมงค์น้ำยังไม่เรียบร้อย​ดี (โดยจะเห็นได้จากน้ำในอุโมงค์​น้ำมีตะกอนและมีความขุ่นเป็นอย่างมาก)​ ทั้งหนังสือขอความอนุเคราะห์นั้นแจ้งมาอย่างชัดเจนว่ากิจกรรมที่จะเกิดขึ้นเป็นกิจกรรมเพื่อการกุศล คณะจึงพิจารณา​ให้ความอนุเคราะห์​ในการเข้ามาใช้บริการอุโมงค์น้ำ โดยยกเว้นค่าใช้จ่ายตามประกาศให้เป็นกรณีพิเศษ”

ขณะที่ประเด็นการเข้าใช้งานอุโมงค์น้ำสำหรับนิสิตนั้น ทางคณะชี้แจงว่า “อุโมงค์​น้ำมีการติดตั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2560 มีการใช้งานด้านการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา และนิสิตที่สนใจทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพทางการกีฬา ก็มีการใช้อุโมงค์น้ำมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังมีการใช้เพื่อการวิจัยและการบริการวิชาการ ได้แก่ ใช้ในการฝึกซ้อมให้แก่นักกีฬา นักกีฬาทีมชาติ เป็นต้น

ในระดับปริญญาตรี นิสิตจะได้เรียนรู้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ทันสมัยของคณะที่หลากหลาย อันได้แก่ เครื่องวิเคราะห์แก๊สเพื่อทดสอบสมรรถภาพของหัวใจและปอด เครื่อง Isokinetic เพื่อทดสอบสมรรถภาพกล้ามเนื้อ ห้อง Hypoxia เพื่อจำลองการปรับสภาพร่างกายบนที่สูง เป็นต้น ตามบริบทเนื้อหารายวิชาของหลักสูตร

แต่ด้วยจำนวนเครื่องแค่ 1 เครื่อง และมีนิสิตเป็นจำนวนมาก จึงอาจได้แค่เรียนภาคทฤษฎีและสาธิต หากนิสิตระดับปริญญาตรีสนใจเป็นพิเศษในเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การกีฬาใด ๆ นิสิตก็สามารถเข้าร่วมเป็นผู้ช่วยวิจัยในการเก็บข้อมูลเพื่อเรียนรู้ในการปฏิบัติได้”