KT เดินหน้าฟ้องบอร์ดชุดเก่า ปมโครงการท่อสายสื่อสารใต้ดิน 2 หมื่นล้าน

ถนนศรีอยุธยา สายไฟลงดิน

เอ็มดีกรุงเทพธนาคม ลุยฟ้องแพ่งบอร์ดบริษัทชุดเก่า เรียกค่าเสียหาย 200 ล้าน จากโครงการนำท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน พร้อมให้ข้อมูล ป.ป.ช.เต็มที่เอาผิดทางอาญา

จากกรณีที่โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT กลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งว่าล้มโครงการนี้ไปแล้วช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ 2566 นั้น ผศ.ดร.ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อเท็จจริงในโครงการนี้ขอชี้แจงว่า บริษัทกรุงเทพธนาคมดำเนินการก่อสร้างโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ที่ริเริ่มมาในสมัยของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมอบหมายให้บริษัทดำเนินการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 โดยเมื่อครบ 33 ปีให้กรรมสิทธิ์ท่อร้อยสายใต้ดินตกเป็นของกรุงเทพมหานคร

กระทั่งบอร์ดชุดปัจจุบัน ที่มี ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เข้ามาทำหน้าที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ตรวจสอบพบข้อสังเกตในการดำเนินโครงการคือ บริษัทลงนามสัญญาวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง (Engineering Procurement Construction : EPC) จำนวน 4 ฉบับกับบริษัทก่อสร้างเอกชน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 จากนั้นวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 บอร์ดบริษัทมีมติเชิญบริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด มาเจรจาเพื่อเข้าทำสัญญาเป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่ 80% ของท่อ โดยต้องจ่ายค่าใช้บริการท่อร้อยสายล่วงหน้าเป็นจำนวนเงิน 13,500 ล้านบาท แต่ไม่บรรลุข้อตกลง คู่เจรจาจึงขอหนังสือขอหลักประกันคืนไป

ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2565 บอร์ดบริษัทชุดเดิมยังอนุมัติโครงการก่อสร้างต่อเนื่องกับโครงการท่อร้อยสายสื่อสารนี้อีก คือการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพร้อมระบบแพลตฟอร์ม เส้นทางถนนพระรามที่ 1 โดยทำสัญญาว่าจ้างบริษัทก่อสร้างเอกชนเข้ามาก่อสร้าง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดแก่บริษัท ดังนั้นเมื่อคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันพบปัญหาดังกล่าวนี้ จึงดำเนินการสอบสวนและไล่ออกพนักงานจำนวนหนึ่งกรณีความผิดทางวินัยร้ายแรง

นอกจากนี้จึงต้องดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวนประมาณ 200 ล้านบาท จากผู้เกี่ยวข้องที่สร้างความเสียหายแก่บริษัท ซึ่งค่าใช้จ่ายโครงการก็มาจากภาษีอากรของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทเช่นกัน

ขณะเดียวกัน KT ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับคู่สัญญาเพื่อจัดการปัญหาภาระหนี้ที่ก่อขึ้นแล้วจากการก่อสร้าง เฟส 1 โดยวิธีการแปลงจากสัญญามูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท เป็นสัญญาย่อย ๆ หลาย ๆ สัญญา และคืนเงินประกันการทำสัญญาให้แก่คู่สัญญา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการฟ้องบังคับชำระหนี้มูลค่า 107,021,367.29 บาท โดยปัจจุบันแปลงสัญญาได้แล้ว 2 สัญญาจาก 4 สัญญา ส่วนจะเป็นสัญญาใดนั้น นายประแสงไม่เปิดเผยข้อมูล

ส่วนขั้นตอนต่อไป นายประแสงเปิดเผยว่า หลังจากแก้ไขให้เป็นสัญญาย่อย ๆ หลาย ๆ สัญญาแล้ว จะต้องพิจารณาในการจัดการกับภาระหนี้ผูกพันกว่า 20,000 ล้านบาทที่ได้ผูกพันไว้ ว่าจะจัดการบริหารได้อย่างไรบ้าง และต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า ทาง KTไม่มีเงินลงทุนถึง 2 หมื่นล้านบาท ในการลงทุนต่อเนื่อง จะต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร หรือหากยกเลิกโครงการจะจัดการกับภาระหนี้กว่า 2 หมื่นล้านบาทอย่างไร

สำหรับคดีอาญานั้น ผศ.ดร.ประแสงกล่าวว่า ป.ป.ช.กำลังดำเนินการสอบสวนอยู่ตามข้อร้องเรียนที่มีอยู่เดิมในอดีต และได้เชิญตนในฐานะกรรมการผู้อำนวยการของบริษัทไปให้ปากคำ พร้อมทั้งชี้แจงแสดงเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยบริษัทพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานของบริษัทภายใต้การนำของผู้บริหารชุดใหม่เป็นไปด้วยความโปร่งใส สุจริต ทุกโครงการ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายต่อบริษัท และกรุงเทพมหานคร

พลิกปูมโครงการสายสื่อสาร

ย้อนกลับไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ลงนามสัญญาก่อสร้างขนาดยักษ์มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ในโครงการ “นำระบบสายสื่อสารลงใต้ดิน” หลังจากเริ่มตั้งไข่มาตั้งแต่ในปี 2561 ที่กรุงเทพมหานครได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพหลักในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน จากมติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (กรรมการ DE) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561

เริ่มจากจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาเพื่อทำแผนแม่บทตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2561 โดยให้กลุ่มบริษัท ไพร์มสตรีม แอดไวเซอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เดเทคอน (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท วีระวงศ์ และพาร์ตเนอร์ส จำกัด ผู้ชนะการประมูลในวงเงิน 81,436,262.50 บาท และ กทม.เลือกมอบหมายงานให้กรุงเทพธนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินระยะทางประมาณ 2,450 กม. ทาง KT รับมาดำเนินการ โดยแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างจะมาจากการที่ให้สัมปทานเอกชนเช่าท่อร้อยสาย โดยมีเอกชนรายหนึ่งพร้อมรับสัมปทานระยะยาวนี้

แต่ต่อมายกเลิกไม่เข้าร่วมสัมปทาน และไม่มีเอกชนรายใดสนใจในสัมปทานดังกล่าว แต่ทาง KT ตัดสินใจเลือกที่จะเดินหน้าโครงการต่อ โดยแบ่งระยะทาง 2,450 กม. ออกเป็น 4 สัญญาตามโซนพื้นที่ มูลค่าการก่อสร้างกว่า 5,000 ล้านบาทต่อสัญญา โดยมีเอกชน 4 รายได้รับคัดเลือก

ประกอบด้วย สัญญาพื้นที่ 1 เอกชนผู้ได้รับเลือกคือ กิจการร่วมค้าเอสซีแอล, เอสทีซี และฟอสส์ โดยมีมูลค่า 5,270 ล้านบาท ระยะทาง 620 กม. สัญญาพื้นที่ 2 เอกชนผู้ได้รับคัดเลือกคือ กิจการร่วมค้าเอดับบลิวดี มูลค่าประมาณ 5,140 ล้านบาท ระยะทาง 605 กม. สัญญาพื้นที่ 3 เอกชนผู้ได้รับคัดเลือก คือ กิจการร่วมค้า จีเคอี แอนด์ เอฟอีซี มูลค่าสัญญาประมาณ 5,142 ล้านบาทม ระยะทาง 605 กม. สัญญาพื้นที่ 4 เอกชนผู้ได้รับเลือกคือ กิจการร่วมค้าเอสซีแอล, เอสทีซี และฟอสส์ โดยมีมูลค่า 5,270 ล้านบาท ระยะทาง 620 กม.

พร้อมกันนี้ให้เอกชนเริ่มก่อสร้างท่อนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ในเฟสแรก ระยะทาง 9.9 กม. กระจายไปในทั้ง 4 สัญญา ได้แก่ ในสัญญาที่ 1 มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 20,520,842.70 บาท ระยะทาง 1.337 กม. สัญญาที่ 2 มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 23,590,080.37 บาท ระยะทาง 2.060 กม. สัญญาที่ 3 มูลค่าการก่อสร้าง 22,008,941.30 บาท ระยะทาง 1.670 กม. และสัญญาที่ 4 มูลค่าการก่อสร้างรวม 51,942,698.92 บาท ระยะทาง 4.835 กม.

สายสื่อสารยุคชัชชาติ

การนำสายสื่อสารลงใต้ดินกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังการเข้ารับตำแหน่งของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มีท่าทีว่าอาจจะล้มโครงการ “นำระบบสายสื่อสารลงใต้ดิน” ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.ชี้แจงว่า ไม่ได้สั่งให้ยกเลิก เพียงแต่ให้ทบทวนโครงการว่ามีความเป็นไปได้ทางธุรกิจหรือไม่ ก่อนมีกระแสข่าวออกมาว่า กทม.ล้มโครงการ “นำระบบสายสื่อสารลงใต้ดิน” ในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ 2566

กระแสข่าวดังกล่าว ทำให้ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำกับดูแล KT ต้องออกโรงแถลงข่าวในวันที่ 4 มกราคม 2565 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันโครงการดังกล่าวที่ทำแล้วเสร็จในเฟสที่ 1 แล้วนั้น ยังไม่มีการเช่าใช้บริการจากผู้ประกอบการ และยังมีหนี้ที่เกิดจากการก่อสร้างอีก 107,021,367.29 บาท

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงส่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแล้วนั้นจะดำเนินการอย่างไร นายวิศณุตอบว่า ส่วนนี้ถือเป็นบทเรียนสำหรับการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ว่าจะเอาแค่ผลประกอบการที่สวยหรูในกระดาษมาพิจารณาการดำเนินการโครงการไม่ได้

พร้อมกันนี้ นายวิศณุเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เหตุผลที่โครงการดังกล่าวไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสารของ KT มีราคาสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่น อีกทั้งโครงข่ายยังไม่ครบถ้วนทำให้ไม่สามารถหาผู้ใช้บริการได้ สำหรับหนี้สินที่เกิดขึ้นจากโครงการก็จะต้องให้เป็นหน้าที่ของ KT ในการดำเนินการต่อไป