
เปิดความสามารถ แอปพลิเคชั่น D.DOPA แอปบัตรประชาชนดิจิทัล ทะเบียนบ้านดิจิทัล ใช้ทำอะไรได้อีกบ้าง
หลังจากที่กรมการปกครอง ประกาศให้ประชาชนสามารถแสดงบัตรประชาชนดิจิทัล และทะเบียนบ้านดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชั่น D.DOPA แทนการแสดงเอกสารตัวจริงต่อเจ้าพนักงาน มาตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้เรื่องของบัตรประชาชนดิจิทัลเป็นที่สนใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ทะเบียนบ้านดิจิทัล ที่เคยเป็นที่ถูกพูดถึงมาก่อนหน้านี้ได้รับความสนใจมากขึ้นด้วยเช่นกัน
แต่นอกจากการใช้แสดงบัตรประชาชน-ทะเบียนบ้านดิจิทัลแล้ว แอปพลิเคชั่น D.DOPA ยังมีความสามารถอื่นที่น่าสนใจ
“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมความน่าสนใจของแอป D.DOPA มาให้เรียนรู้ก่อนจะใช้งานจริง
แอป D.DOPA คืออะไร
แอปพลิเคชั่น D.DOPA คือแอป “ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่กรมการปกครอง ได้จัดทำขึ้นตามโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) เพื่อสร้างต้นแบบและนวัตกรรมใหม่ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศ รองรับการใช้งานบริการภาครัฐ
แสดงบัตรประชาชนดิจิทัล ทะเบียนบ้านดิจิทัล
ฟังก์ชั่นหลักของ D.DOPA คือบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านดิจิทัล ที่สามารถใช้แสดงตนแทนเอกสารแบบเดิมได้ ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ตั้งแต่ 10 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว
ใช้ยืนยันตัวตนเข้าสู่ระบบเว็บไซต์ของรัฐได้
นอกจากจะใช้แอปพลิเคชั่น “D.DOPA” ในการแสดงบัตรประชาชนดิจิทัล และทะเบียนบ้านดิจิทัลได้แล้ว แอปดังกล่าวยังสามารถใช้ในการยืนยันตัวตนเข้าสู่เว็บไซต์ต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐได้ ทั้งเว็บไซต์ของกรมการปกครอง (https://thportal.bora.dopa.go.th) สำหรับการใช้งานบริการทางทะเบียนราษฎร ทั้งการตรวจสอบข้อมูล การจองคิวล่วงหน้า ไปจนถึงบริการทางทะเบียน ตั้งแต่การขอคัดรับรองรายการทะเบียน จนถึงการขอเลขที่บ้าน-ย้ายที่อยู่เข้าทะเบียนบ้านแห่งใหม่

อีกหนึ่งเว็บไซต์ที่สามารถเข้าใช้งานด้วยระบบ D.DOPA ได้คือ เว็บไซต์ของกรมสรรพากร ทั้งระบบ e-Filing สำหรับการยื่นแบบภาษีออนไลน์ และระบบ My Tax Account สำหรับการตรวจสอบข้อมูลภาษีออนไลน์ ทั้งรายได้และรายการลดหย่อนภาษี
วิธีการลงทะเบียนใช้แอป D.DOPA
สำหรับวิธีการลงทะเบียน หลังจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น D.DOPA ผ่าน App Store ของแต่ละระบบปฏิบัติการแล้ว (iOS | Android) สามารถทำได้ 2 รูปแบบคือ การลงทะเบียนด้วยตนเอง หรือการลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่
ขั้นตอนการลงทะเบียนด้วยตนเอง
- เลือกหัวข้อลงทะเบียนด้วยตนเอง
- ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อลงทะเบียนสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล
- ถ่ายรูปหน้าบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเสร็จแล้วให้ตรวจสอบความชัดเจนและกดปุ่มยืนยันหรือถ่ายใหม่
- ถ่ายรูปหลังบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเสร็จแล้วให้ตรวจสอบความชัดเจนและกดปุ่มยืนยันหรือถ่ายใหม่
- ตรวจสอบข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน หากถูกต้องให้กดยืนยัน
- ถ่ายรูปภาพใบหน้าตนเอง
- ตั้งค่ารหัสผ่านเหมือนกัน 2 ครั้งโดยต้องไม่เรียงกัน และไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว เช่น 1234, 1111
- ระบบแจ้งเตือนขอความยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชั่นครั้งแรก
- เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงรูปบัตรประจำตัวประชาชน
ขั้นตอนการลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่
- เลือกหัวข้อลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่
- นำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียน
- เปิดแอปพลิเคชั่น D.DOPA พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของเครื่องโทรศัพท์มือถือ
- ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อลงทะเบียนสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล
- ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้ถูกต้อง
- สแกนลายพิมพ์นิ้วชี้กับเจ้าหน้าที่
- สแกน QR code บนหน้าจอของเจ้าหน้าที่ ด้วยแอปพลิเคชั่น D.DOPA
- ตั้งค่ารหัสผ่านเหมือนกัน 2 ครั้ง โดยต้องไม่เรียงกัน และไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว เช่น 1234, 1111
- ระบบแจ้งเตือนขอความยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้ง เพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชั่นครั้งแรก
- เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงรูปบัตรประจำตัวประชาชน
- ปี 2566 เริ่มใช้ Digital ID แสดงตัวตนแทนบัตรประชาชนตัวจริงได้
- บัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) ใช้แทนบัตรจริงได้ตั้งแต่ 10 ม.ค. 66
- ลงทะเบียนแอป D.DOPA ใช้บัตรประชาชน-ทะเบียนบ้านดิจิทัล ทำอย่างไร
- บัตรประชาชนดิจิทัล ลงทะเบียนได้เอง ไม่ต้องไปเขตหรืออำเภอ ทำอย่างไร
- ทะเบียนบ้านดิจิทัล ผ่านมือถือ ยื่นคำขออย่างไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง