ปธ.สอบข้อเท็จจริง ‘ป้าทุบรถ’ คาดจนท.ละเลย 28 ก.พ.เรียกเจ้าบ้าน-ตลาดให้ข้อมูลเพิ่ม

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล รองประธานสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าของบ้านเลขที่ 37/208 ซอยศรีนครินทร์ 55 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม.อ้างเหตุความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการตลาดบริเวณปากซอยศรีนครินทร์ 55 ได้เรียกประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ หารือเรื่องดังกล่าวนัดแรกใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 15.00 น.นายนิรันดร์ ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ต้องหาข้อสรุปให้ได้ 3 ประเด็น คือ 1.การขออนุญาตตั้งตลาดทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดสวนหลวง 1 ตลาดเปิ้ล มาร์เก็ต ตลาดยิ่งนรา ตลาดรุ่งวาณิชย์และตลาดร่มเหลือง มีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตลาด ตั้งแต่ปี 2545 ให้ครบถ้วน 2.กรณีศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองตามวิธีการชั่วคราวผู้ร้อง คือ น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ พร้อมพวก 4 คน และ

3.กรณีการตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอนุญาตให้สร้างอาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัยรวม ตลาดนัดภายในหมู่บ้านเสรีวิลลาและแก้ไขข้อบัญญัติ กทม.พ.ศ.2532 เอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่ง น.ส.บุญศรี เป็นผู้ร้อง

“ทั้งนี้ จะให้สำนักงานเขตประเวศรวบเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องส่งมายังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ และในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เวลา 14.00 น.คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ จะเชิญเจ้าของบ้าน เจ้าของตลาด และเจ้าหน้าที่ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม และทำการสรุปข้อเท็จจริง รวมถึงแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหา ก่อนสรุปผลเสนอไปยัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อพิจารณาแนวทางดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายต่อไป ในส่วนผลพิจารณาคดีของศาลปกครองนั้น กทม.จะไม่เข้าไปก้าวล่วงระหว่างพิจารณคดี” นายนิรันดร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเบื้องต้นทราบหรือไม่ว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือผู้อำนวยการเขตในกรณีดังกล่าวกี่ราย นายนิรันดร์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบ เพราะเบื้องต้นจากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2554 ยังระบุจำนวนไม่ได้

“เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดมาจากความบกพร่องหรือการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ต้องขึ้นอยู่กับการชี้มูลของ ป.ป.ช.ว่าเป็นกรณีใด หากเป็นความผิดทางวินัย ต้องยึดเอาสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นสำนวนหลัก หากเป็นความผิดทางอาญา ต้องส่งเรื่องไปที่อัยการ ก่อนจะมีการสั่งฟ้อง หากเป็นความรับผิดทางแพ่ง หน่วยงานต้นสังกัด จะเป็นผู้ดำเนินการทางวินัย และความรับผิดทางแพ่งต่อไป” นายนิรันดร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ แต่งตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 49 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มีกรรมการ 6 คน ประกอบด้วย นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล รองประธานสภา กทม. เป็นประธาน ส่วนกรรมการ ได้แก่ นายบรรลือ สุกใส ผู้ช่วยปลัด กทม. นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายอภิรัตน์ ศิวพรพิทักษ์ ส.ก. นายเพ็ชร ภุมมา หัวหน้าศูนย์รับแจ้งทุกข์ กทม.1555 และนางสุรีทิพย์ ศรีนิล นิติกร สำนักเทศกิจ กทม.

 

 

ที่มา  มติชนออนไลน์