แผ่นดินไหวตุรกีสู่กรุงเทพ ชู BKK Risk Map เตรียมพร้อมรับมือ

BKK Risk map

แผ่นดินไหวที่ตุรกีและซีเรีย กับความหวั่นไหวของคนกรุงเทพฯ

ถอดรหัสนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี จัดอยู่ในหมวดนโยบาย #โครงสร้างดี #ปลอดภัยดี

ล่าสุด เมื่อ 13 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา กทม.ร่วมสัมมนาเวทีใหญ่หัวข้อ “35 วัน หลังแผ่นดินไหวตุรกี ประเทศไทยพร้อมรับมือแผ่นดินไหวแล้วหรือยัง” จัดโดยกรมทรัพยากรธรณี

ติดตั้งเครื่องวัดสั่นสะเทือนตึกสูง

โดย “รศ.ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทน กทม.ร่วมสัมมนา และปาฐกถาหัวข้อ “การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของกรุงเทพมหานคร” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้ ข้อมูล มาตรการ แผนการ และความร่วมมือของกรุงเทพมหานครกับหลากหลายหน่วยงานในการเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหว

ทั้งนี้ การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของกรุงเทพมหานคร สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่บนตึกสูงนั้น กรุงเทพมหานครยินดีให้มีการติดตั้งเครื่องวัดความสั่นสะเทือนที่ตึกหรืออาคารต่าง ๆ ของ กทม. เช่น โรงพยาบาลหรือโรงเรียนในสังกัดของ กทม. ในส่วนของห้างสรรพสินค้าหรืออาคารของเอกชน สามารถขอความร่วมมือให้ติดตั้งได้ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากเครื่องที่ติดตั้งทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ได้

ขณะเดียวกันเมื่อมีการติดตั้งแล้วต้องคิดให้รอบด้านว่า ใครจะเป็นผู้ดูแลให้สามารถใช้งานได้ตลอด โดยในเบื้องต้นการสำรวจว่ากรุงเทพฯมีจุดเสี่ยงอยู่ที่ใดบ้างนั้น ใช้งบประมาณไม่มาก แต่หากเป็นการสำรวจละเอียดลงลึก ลักษณะกายภาพของพื้นดินและความอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือนแตกต่างกัน จำเป็นต้องมีเครือข่ายจุดวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวใน กทม.หรือไม่ มากน้อยเพียงใด

รศ.ทวิดา กมลเวชช
รศ.ทวิดา กมลเวชช

เครื่องมือใหม่ “BKK Risk Map”

ประเด็นถัดมาคือ หากมีการติดตั้งเครื่องมือหรือเครือข่ายจุดวัดแล้ว ข้อมูลที่ได้ใครจะเป็นผู้นำไปใช้ รวมถึงกำกับข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และส่งต่อข้อมูล

“ประเด็นสำคัญคือ ในตอนนี้ แผ่นดินไหวตามตำแหน่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกิดจากรอยเลื่อนหลัก รอยเลื่อนแขนง จะส่งผลมากน้อยแค่ไหนต่อการเคลื่อนไหวทางกายภาพของแผ่นดิน กทม. เรายังไม่มีคำตอบตรงจุดนี้ ในขณะเดียวกันเราต้องการได้ข้อมูลที่แม่นยำ เพื่อให้มีหลักการและเหตุผลที่หนักแน่น เพื่อสามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้”

คำถาม กทม.มีความพร้อมแค่ไหนในการรับมือแผ่นดินไหว คำตอบคือ กำลังทำ BKK Risk Map ซึ่งกำหนดแผนที่จุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ เพื่อให้คนกรุงสามารถเข้าถึงข้อมูลความเสี่ยงทุกรูปแบบ รวมถึงการอพยพเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และการระวังภัยแบบเรียลไทม์ ในกรณีแผ่นดินไหวกำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูลทำแผนที่อาคารใน กทม. ทั้งลักษณะ โครงสร้าง และรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงทั้งก่อนและหลังเกิดแผ่นดินไหว รวมไปถึงภัยอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

จุดเน้นอยู่ที่ในการประกอบสร้าง BKK Risk Map ให้เสร็จสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้ และสามารถรู้ความเสี่ยงของตนเองได้ กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องผสานทรัพยากรและข้อมูลจากหลากหลายฝ่าย หลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อาทิ ขอความร่วมมือจากกรมทรัพยากรธรณีในด้านการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวใน 50 เขตของกรุงเทพมหานคร, การเปิดข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณีเป็น open source ในการเข้าถึง เพื่อรวมกับข้อมูลของกรุงเทพมหานคร หน่วยงานวิจัยที่มีข้อมูลในการวิเคราะห์โครงสร้างอาคาร ตึก ถนน สะพาน และโครงสร้างประชากร

รวมถึงข้อมูลจากนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวข้องในด้านนี้ เช่น ข้อมูลความเปราะบางของพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงโมเดลที่คำนวณความเป็นไปได้ที่แรงสั่นสะเทือนจากการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ต่าง ๆ จะมีผลกระทบมาถึง ซึ่งกรุงเทพมหานครพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชาว กทม.มากที่สุด

โอกาสแผ่นดินไหวในไทย

ก่อนหน้านี้ กทม.เป็นเจ้าภาพจัดเสวนาวิชาการ “แผ่นดินไหวตุรกี กทม.พร้อมแค่ไหน” โดย “รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่า แผ่นดินไหวในประเทศไทย โอกาสเกิดเหมือนในตุรกีมีต่ำกว่า เพราะประเทศไทยมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้ แต่ไม่ได้อยู่ที่บริเวณรอยต่อแผ่นเปลือกโลกที่เรียกว่า “รอยเลื่อน” ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท “รอยเลื่อนมีพลัง-รอยเลื่อนมีโอกาสจะมีพลัง-รอยเลื่อนหมดพลัง”

ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อน 16 รอยเลื่อนที่มีพลัง รอยเลื่อนใกล้กรุงเทพฯมากที่สุดอยู่โซนกาญจนบุรี ระยะห่าง 200-250 กิโลเมตร มีโอกาสสร้างความรุนแรงให้กับกรุงเทพฯได้ ส่วนรอยเลื่อนที่อยู่ไกล ความรุนแรงของแผ่นดินไหวก็จะลดลงตามระยะทาง

อย่างไรก็ตาม การที่พื้นที่กรุงเทพมหานครมีดินอ่อน ทำให้การรับรู้แรงสะเทือนแม้จะอยู่ไกลก็สามารถจะรับรู้ได้ และสามารถขยายสัญญาณบางอย่างที่จะทำให้อาคารบางประเภทโดยเฉพาะอาคารสูงมีการตอบสนองมากกว่าปกติ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทราบในปัจจุบันคือ เราจะต้องออกแบบอาคารให้สอดคล้องกับรอยเลื่อนที่มีพลังเหล่านี้

จับตาตึกสร้างก่อนปี 2550

“ศ.ดร.นคร ภู่วโรดม” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า ปัญหาแผ่นดินไหวมี 2 ปัจจัยทำให้เกิดความรุนแรงหรือไม่ 1.อาคาร 2.ลักษณะของดิน และคลื่นแผ่นดินไหวที่มาถึง

โดยประเทศไทยมีการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวให้มีความทันสมัยมากที่สุด อาทิ เรื่องระดับความเสี่ยงภัยของแผ่นดินไหวทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพฯ การศึกษาผลกระทบของดินอ่อนโดยเฉพาะว่าจะขยายคลื่นเท่าไร การออกแบบอาคารสูงที่เกิดขึ้นมากในกรุงเทพฯ ภายใน 10-20 ปีที่ผ่านมา การปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว เป็นต้น

ในส่วนของอาคารเก่าที่สร้างก่อนปี 2550 แม้จะมีการออกแบบให้สามารถต้านทานแรงลมซึ่งเป็นแรงทางด้านข้างเช่นเดียวกับแผ่นดินไหว แต่เงื่อนไขของการออกแบบต้านแผ่นดินไหวมีมากกว่า เช่น ต้องทำให้โครงสร้างเหนียว สามารถโยกตัวได้มากเพื่อรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ฉะนั้น อาคารที่ต้านทานแรงลมได้อาจจะไม่สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ 100%

กู้ภัยตึกถล่มต้องมี “วุฒิวิศวกร”

ไฮไลต์มาจากผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม “ภุชพงศ์ สัญญโชติ” หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดยาว กรุงเทพมหานคร หนึ่งในผู้ร่วมทีม USAR Thailand ซึ่งได้ไปปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกี ระหว่างวันที่ 9-18 กุมภาพันธ์ 2566 สรุปสาระสำคัญ แผ่นดินไหวตุรกีมีความรุนแรง 7.8 ริกเตอร์ 6.7 ริกเตอร์ และ 7.5 ริกเตอร์ ในเวลาห่างกันไม่มากนัก ทำให้อาคารถล่มทั้งเมือง

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครเคยมีเหตุอาคารถล่ม ประสบการณ์ทำให้เห็นว่าความรวดเร็วในการเข้าช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญ โดยการลงพื้นที่อาคารถล่มแต่ละครั้งจะต้องมี “วุฒิวิศวกร” ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย และสามารถใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเพื่อความปลอดภัยของทุกคนได้ เพราะหากผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรม อาจจะทำให้เกิดการประเมินความเสี่ยงที่ผิดพลาดและเกิดเหตุวิบัติซ้ำซ้อนได้

ส่วนปัญหาที่พบคือ ประเทศไทยมีสายด่วนหลายสาย อาทิ 191, 199, 1646, 1669 จะต้องมีการประชาสัมพันธ์สายด่วนที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้ทราบและติดต่ออย่างถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือที่ทันท่วงที

จัดทำรายงานตรวจสอบอาคาร

ในด้านกฎหมาย กทม.บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่มีเกณฑ์การบังคับด้านการออกแบบ การก่อสร้าง การดัดแปลงอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง และมีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร ซึ่งในกรุงเทพฯ มีอาคารที่เข้าข่ายการบังคับตามกฎกระทรวง กําหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวปี 2550 และปี 2564 จำนวน 3,028 หลัง กับอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนกฎหมายบังคับใช้ 10,386 หลัง

นอกจากนี้ ตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบปี 2548 กำหนดให้เจ้าของอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ 1.อาคารสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป 2.อาคารขนาดใหญ่พิเศษพื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป 3.อาคารชุมนุมคนพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคน 500 คนขึ้นไป 4.โรงมหรสพ 5.โรงแรมที่มีห้องพัก 80 ห้องขึ้นไป 6.สถานบริการที่มีพื้นที่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป

7.อาคารชุดหรืออาคารที่อยู่อาศัยรวมพื้นที่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป 8.โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และ 9.ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย สูงจากพื้นดิน 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป

ต้องส่ง “รายงานการตรวจสอบอาคาร” ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบอาคารหรือสั่งให้แก้ไข แล้วแต่กรณี