รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล อัพเดต 14 เดือนอินฟราสตรักเจอร์ กทม.

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้การบริหารยุคทีมชัชชาติ ย่างเข้าสู่อายุการทำงานครบ 14 เดือน ณ สิงหาคม 2566

บนความคาดหวังของคนกรุงในการอัพเกรดมหานครกรุงเทพ ให้เป็นมหานครน่าอยู่สำหรับทุกคน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล” รองผู้ว่าราชการ กทม. ดีกรีอาจารย์ด้านวิศวกรรมบริหารการก่อสร้าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องบอกว่าไม่ใช่คนหน้าใหม่สำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะเคยเป็นทีมงานชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในยุคที่นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

บทบาทและภารกิจของ “รองวิศณุ” ในวันนี้ กำกับดูแลหน่วยงานหลักด้านโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ของเมือง ประกอบด้วย หน่วยงาน 5+1 คือ 1.สำนักการโยธา 2.สำนักการระบายน้ำ 3.สำนักการจราจรและขนส่ง 4.สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง 5.บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT วิสาหกิจที่ กทม.ถือหุ้น 100% และบวกอีก 1 เป็น 6.สำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานโยธา

บนรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ บนรอยต่อของช่วงโค้งสุดท้ายในการเปลี่ยนปีงบประมาณ (1 ตุลาคม 2566-30 กันยายน 2567) เป็นโอกาสเหมาะที่จะติดตามความก้าวหน้าของผลงานในช่วง 14 เดือนแรก และสิ่งที่จะทำต่อในอนาคต

ถอดบทเรียนแอชตัน อโศก

บทเรียนง่าย ๆ คือเกิดจากการตีความ ความเข้าใจ ต้องเอาให้ชัดว่าพื้นที่แบบนี้ เอามาใช้ได้ อย่างไรหรือเปล่า เพราะ กทม.ให้ใบอนุญาตก่อสร้าง ตามที่มีคนยินยอมให้ใช้ที่ (ผ่านทาง) คือ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ก็มีหนังสือยินยอมให้ใช้พื้นที่ และเรื่องนี้ไม่มีการทุจริต ผมมองว่าให้มีความชัดเจนขึ้น ที่แบบไหน การนำมาใช้

การขออนุญาตก่อสร้าง ที่มีใบอนุญาตผ่านทางหน่วยงานอื่นมาประกบ วันนี้ที่ศาลท่านตัดสินมา ต้องเคารพคำตัดสินของท่าน มี 2 เรื่อง 1.ที่ดินที่เวนคืนมา ใช้ตรงวัตถุประสงค์หรือไม่ ประเด็นนี้ ต้องยอมรับที่ รฟม. ก็เป็นที่เวนคืนมา ฉะนั้น ทางเจ้าของที่ดินต้องไปต่อสู้ให้ครบว่า คุณถูกเวนคืนรอนสิทธิไปไหม ให้ใช้ (ผ่านทาง) ได้เท่าไหร่ กี่เมตร การที่บอกว่า ที่ใช้ไม่ได้ ก็ไม่ใช่ เพราะก่อนหน้านั้นที่ใช้ได้แต่ถูกรอนสิทธิไป ก็ต้องทำให้ชัด เราต้องดูประเด็นให้เคลียร์ ว่าเป็นเรื่องรอนสิทธิ

2.เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่มาก ถ้าพื้นที่นั้น ยังมีสงวนสิทธิอยู่ คือวันนี้ หน่วยงานรัฐ หน่วยงานราชการ ถ้าอนุญาตให้ใครใช้พื้นที่ผ่านมา เขามีคำสงวนสิทธิ มันก็ต้องดูว่า โครงการนี้ถูกต้อง ขอรอนสิทธิ ประเด็นนี้ต้องไปที่กรรมการควบคุมอาคารต้องตีความอีก

ผมอ่านคำพิพากษาศาล มีข้อหนึ่งและข้อสอง สรุปสาระสำคัญข้อสอง แม้ว่าทางรัฐบาลยอมให้ใช้ได้ แต่ยังมีคำสงวนสิทธิอยู่ อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายจะเกิดยังไง เพราะมันเป็น template ของภาครัฐ ให้ใครใช้ที่ต้องเขียนสงวนสิทธิไว้อยู่แล้ว

ฮอตอิสชูส์ด้านโครงสร้างพื้นฐานของ กทม.

หลัก ๆ ก็มีเรื่องผังเมือง กับน้ำท่วม ซึ่งปัญหาที่คนกรุงเทพฯร้องเรียนหนัก ๆ จะมีน้ำท่วม จราจร ฟุตปาททางเดิน ไฟฟ้าแสงสว่าง ฯลฯ

ถามว่าอยากได้ภาพการลงทุนเปลี่ยน หรือปรับเมือง โมเดลใหม่ของเมือง ซึ่งภาพนั้นคือเมกะโปรเจ็กต์ แต่ปัญหาหลัก ๆ ของชาวบ้าน ของคนทั่วไป อาจไม่เซ็กซี่นะ คือสิ่งที่คนออกมาจากบ้าน วันนี้โจทย์การเดินทาง เราต้องเอาคนเดินทาง ไม่ใช่ให้รถเดินทาง เราต้องตั้งโจทย์ให้ดี

เช่น คนอาจเดินเท้า ขี่จักรยาน นั่งรถเมล์ นั่งรถไฟฟ้า มีการเดินทางหลากวิธี อย่ามองมิติเดียวว่า การแก้ปัญหาจราจรคือการทำให้รถไม่ติด เราต้องตั้งโจทย์ให้ดี

โจทย์ผมไม่ใช่ทำให้รถไม่ติด โจทย์ผมคือทำให้คนเดินทางให้สะดวกได้ยังไง รายละเอียดก็มีหลากหลายวิธี เดินทางจากบ้านไปที่ทำงานไกล ๆ จากบ้านจะไปเข้าออฟฟิศยังไง ฟุตปาทต้องดี มีหลังคาคลุมไหม

โจทย์ให้เส้นเลือดฝอยเป็นตัวตั้ง

เส้นเลือดฝอยเป็นวิธีการมากกว่า หลังจากเราเข้าใจปัญหา จะเห็นว่าปัญหาต่าง ๆ เกิดจากเส้นเลือดฝอย ฮอตอิสชูส์หลักเราเอาใครเป็นศูนย์กลาง ก็คือคน เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เช่น การเดินทาง โจทย์มีประชาชนเป็นที่ตั้ง ทำยังไงให้เดินทางมีความสะดวก

ซึ่ง 216 นโยบาย เน้นบริหารจัดการเส้นเลือดฝอยของเมือง คนเข้าใจเส้นเลือดฝอยฟังพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ แต่ที่จริงแล้ว แผนงานเกิดจากอะไร เกิดจากข้อมูล

สิ่งที่เราทำในปีที่ผ่านมา เราเก็บข้อมูลเยอะจากแอปแทรฟี่ฟองดูว์ ยกตัวอย่าง แผนปรับปรุงน้ำท่วม ไม่ทำเปะปะ เราทำจี้จุดเลย เช่น เราถอดบทเรียนน้ำท่วมที่ผ่านมา ปี 2565 น้ำท่วม 737 จุด สาเหตุเกิดจากอะไร พบว่า 120 จุดเกิดจากน้ำเหนือน้ำหนุน การระบายน้ำสู่เจ้าพระยาที่มีช่องโหว่ กับ 117 จุดเกิดจากน้ำฝน เรามาพลอตบนแผนที่ เราเอกซเรย์ดูบนแผนที่เลย

ยุคทีมชัชชาติ น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯใช่ไหม

น้ำจะระบายได้เร็วขึ้น (ตอบทันที) เดิมคือน้ำท่วม ได้รับร้องเรียนว่าน้ำท่วมขัง ท่วมนาน เราเข้าไปดูว่าปัญหาอยู่ที่ไหน มี 4-5 อย่าง เช่น 1.พื้นที่ต่ำมาก 2.ไม่มีรางระบายน้ำ 3.รางระบายมันเล็ก 4.ระบบไหลต่ออาจยังไม่ดี เครื่องสูบน้ำอาจไม่ดี เราก็เอาระบบเข้าไป เช่น เสริมผิว ทำรางระบายเข้าไป ทำท่อระบายน้ำเพื่อเชื่อมการระบายน้ำ หรือเพิ่มเครื่องสูบน้ำ ฯลฯ

สำหรับเมกะโปรเจ็กต์แก้ปัญหาน้ำท่วม โครงการเดิมมีอยู่แล้ว เราสานต่อ เช่น การขยายพื้นที่อุโมงค์ระบายน้ำในโซนลาดพร้าว มีการก่อสร้างต่อเนื่อง เราก็เดินตามแผนงาน เหตุผลเพราะมีการผูกพันงบฯไปแล้ว และเริ่มเซ็นสัญญาสมัยเราก็มี นี่คือมาสเตอร์แพลนที่เขาวางไว้นานแล้ว

ตอนหาเสียงบอกว่าจะรื้ออุโมงค์ยักษ์

ในสมัยที่ผมดูแล ลาดกระบัง-บึงหนองบอน-ลาดพร้าว 3 โครงการนี้ก็เดินหน้าต่อ ซึ่งมีเฟสต่อไปอันนั้นเราทบทวน ในผังแม่บทมีอุโมงค์เยอะ ทั้งบำบัดน้ำเสีย ทั้งอุโมงค์ยักษ์ แต่อุโมงค์ยักษ์วันนี้ทำแค่ที่ทำไปแล้ว แค่นี้ก่อน ผังแม่บทวางไว้ 15-20 ปี เราต้องดูบริบทอันนี้ ยังมีความจำเป็นต้องทำไหม หรือมีเปลี่ยนเส้นทางไหม

โครงการที่เราเสนอใหม่ในสมัยนี้ ทำอุโมงค์ใหม่ลัดมาทางคลองประเวศ ตอนนี้ปัญหาการระบายน้ำของเราคือ กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก โซนหนองจอก ลาดกระบัง การจะผันน้ำลงใต้สู่เจ้าพระยาต้องผ่านสุวรรณภูมิ ซึ่งโดนบล็อกอยู่ จะลงไปฉะเชิงเทราต้องสูบน้ำออก ก็กระทบ มีข้อจำกัด จะผันน้ำลงใต้ที่สมุทรปราการ พื้นที่สูงกว่า และข้างล่างก็ยังท่วมอยู่

เพราะฉะนั้น น้ำที่ลงลาดกระบังต้องผันมาทาง กทม. คือผันมาทางคลองประเวศ คลองพระโขนง (คลองเดียวกัน) เพื่อไหลไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใน กทม. ทีนี้จะเอาน้ำจากฝั่งตะวันออกกลับเข้ามาอีก คือเราแบ่งส่วนกันนะ ส่วนหนึ่งออกไปทางฉะเชิงเทรา อีกส่วนต้องผันกลับเข้ามา การผันกลับเข้ามา คลองประเวศก็มีข้อจำกัดอยู่ ใส่เข้ามาเยอะก็ล้นคลองสองข้าง พื้นที่ลาดกระบังก็ท่วม พื้นที่ประเวศ …ท่วมหมด

เราจะทำทางลอดจากลาดกระบัง มาลงที่บึงหนองบอน เป็นโครงการที่เสนอรัฐบาลเข้าไป โครงการใหม่ เสนอปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ไม่ยาวมาก แต่ระบายน้ำ เพราะบึงหนองบอนมีแก้มลิงขนาดใหญ่ ก็มาผันน้ำจากตรงนี้ได้

แล้วอย่าลืมว่าจากบึงหนองบอน เรามีต่อไปอุโมงค์ เดิมเรามีอุโมงค์ยักษ์จากบึงหนองบอนไปลงเจ้าพระยาอยู่แล้ว ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง ที่มีปัญหาที่พังอยู่ ถ้าสามารถนำน้ำจากลาดกระบัง มาพักที่บึงหนองบอน ซึ่งน้ำทะลุไปอุโมงค์ยักษ์ มีอยู่แล้ว ก็จะช่วยได้ดีขึ้น นี่คือโครงการใหม่ที่เสนอเข้าไป เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ได้รับงบประมาณแล้ว โดยทั่วไปจะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี

เพิ่มแก้มลิงธรรมชาติในผังเมือง

ฟลัดเวย์คือทางน้ำผ่าน แก้มลิงก็เหมือนกับต้องพัฒนามาใหม่ เรื่องนี้เราก็ทบทวนเหมือนกับกรณีต้องไปเวนคืนที่มาแพง ๆ วันนี้ แก้มลิงทำตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังจากมีกฎหมายภาษีที่ดินฯขึ้นมา ทำให้มีพื้นที่ว่างเปล่า บ่อน้ำ จะเริ่มจะรับพื้นที่มา คือถ้าที่ดินใครยกให้รัฐใช้ประโยชน์เกิน 7 ปี ได้รับยกเว้นภาษี เช่น บ่อน้ำใหญ่ ๆ

แต่เราไม่รับหมดนะ พื้นที่ต้องใช้ได้ด้วย การจะเป็นแก้มลิงได้ต้องอยู่ใกล้คลอง ใกล้ที่ระบายน้ำ เพื่อให้ทำเปิด-ปิดทางเข้าออกน้ำได้ ถ้ามาอยู่กลาง ๆ เลยก็ไม่เกิดประโยชน์ ต้องเอาน้ำเข้าได้ น้ำออกได้

รัฐบาลใหม่จะทำ 20 บาทตลอดสาย

รอฟังรัฐบาลใหม่ ต้องดูรายละเอียดว่าเป็นยังไง ผมเชื่อว่าถ้ารัฐบาลกลางออกนโยบายมา อาจจะต้องมีการอุดหนุน ส่วนรูปแบบไหน เป็นสิ่งที่ต้องหารือกัน

ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว มีทางออกไหม

มีครับ ต้องแยกสองเรื่อง 1.แมสทรานสิต รัฐบาลต้องซัพพอร์ตในเรื่องค่าก่อสร้างเป็นอย่างน้อย เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้

2.รัฐบาลคงมองเป็นนโยบายแล้วล่ะ ค่าเดินทางองค์รวม ในภาพรวมลดได้ยังไง โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่าย ไม่ใช่ขึ้นสาย ก ไปต่อสาย ข เจอค่าแรกเข้าดับเบิล ทำให้ค่าโดยสารมันแพงเกินกำลังผู้โดยสาร ประเด็นค่าแรกเข้าเป็นบทบาทรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้วิน-วินได้อย่างไร

ปมปัญหาต้องดูก่อนว่าสายสีเขียวในส่วนไข่แดง (หมอชิต-อ่อนนุช) ปี 2572 ต้องคืนสัมปทานกลับมาให้ กทม. ก็ต้องรอถึงตอนนั้น ซึ่งจริง ๆ ตอนนี้ก็คิดกันแล้วว่า กระบวนการที่จะหาผู้ดำเนินการรายใหม่ ผู้รับสัมปทานรายใหม่จะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้มันค้างอยู่ที่ ครม. (คณะรัฐมนตรี)

คือแต่เดิม ม.44 มีการขอให้ขยายสัมปทาน เป็นการต่ออายุ 30 ปีเฟสสอง จากเฟสแรกปี 2542-2572 ไปจบปี 2572-2602 ก่อนปี 2572 รายรับสายสีเขียว เข้าบริษัทผู้รับสัมปทานหมด (บีทีเอสซี) หลังปี 2572 รายรับจะเข้า กทม. 100% แต่มีสัญญาจ้างเดินรถให้เดินรถไปถึงปี 2555-2585 ที่ กทม.ต้องจ่ายค่าจ้างในการเดินรถ อันนี้คือของเดิมนะที่มีอยู่แล้ว

วันนี้เราคิดว่า กระบวนการที่ขยายสัมปทานเฟสสองไปอีก 30 ปีนั้น ต้องทำให้รอบคอบ ความเห็นเราคือควรนำเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งมีการพิจารณารอบด้าน มีการศึกษารัดกุม เรื่องนี้ต้องให้ ครม.ใหม่ตัดสินใจ เพราะเรื่องค้างอยู่ที่ ครม.

ในฐานะสอนวิศวะบริหารการก่อสร้าง มองปัญหาสายสีเขียวยังไง

ผมว่าทุกโครงการโครงสร้างพื้นฐานพวกนี้ พวกโครงการขนาดใหญ่ การกลัดกระดุมเม็ดแรกต้องดูให้ดี เพราะถ้าเราก่อสร้างลงไปแล้ว เราอยากเปลี่ยนอยากทำอะไร มันทำไม่ได้ เพราะตอกเข็มไปแล้ว ทำอะไรไปแล้ว ดังนั้น การคิดกระดุมเม็ดแรกต้องคิดให้รอบคอบ

ประเด็นที่สอง โครงการในลักษณะนี้ โดยเฉพาะโครงการสัมปทาน เราพูดถึงเมื่อ 30 ปีที่แล้ว การคาดการณ์อนาคตมันมีความไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น การให้สัญญาสัมปทานต้องมีความยืดหยุ่น ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ในอนาคต

เพราะถ้าเราฟิกซ์ไปเลยทั้งหมด ในด้านผู้ลงทุนก็ต้องการป้องกันความเสี่ยงตัวเองก่อน เช่น ใส่มา (การคำนวณผลตอบแทนในสัมปทาน) ให้เยอะไว้ก่อน เช่น ดอกเบี้ย เราไม่รู้อนาคตเป็นยังไง ใส่สูงไว้ก่อน ป้องกันตัวเอง หรือปริมาณคนใช้ เราไม่รู้หรอก ต้องคิดให้รอบคอบ ต้องมีบริบทที่รัฐไม่เสียเปรียบ และไม่เอาเปรียบเอกชนเกินไป

หลัก ๆ ง่าย ๆ ถ้าความเสี่ยงในอนาคตอยู่ตรงไหน ใครบริหารความเสี่ยงได้ดีกว่า ก็ควรให้บริหารความเสี่ยง จะรัฐหรือเอกชนได้หมด ขึ้นอยู่กับต้องมีระบบบริหารความเสี่ยงนี้ก่อน คล้ายกับสัญญาสัมปทาน 30 ปี ให้โรลโมเดลทุก 5-10 ปี เพื่อมาดูว่ามีการปรับอะไรบ้าง อะไรคือปัจจัยสำคัญ

ประเด็นที่สาม เป็นเรื่องการติดตามผลงาน ติดตามการทำงาน อย่าลืมว่าตอนทำสัญญา คนร่างสัญญาถึงเวลาผ่านไป 10-20 ปี ไม่รู้ไปไหน คือฝั่่งราชการจะเสียเปรียบ เพราะว่าฝั่งราชการเวลาเปลี่ยนคนรับผิดชอบ เปลี่ยนคนทำงาน คนมาใหม่อาจจะไม่เข้าใจโครงการ ในด้านความลึกของความเข้าใจ บริบท เจตนารมณ์ เพราะฉะนั้น การบังคับใช้ การตีความสัญญา และอื่น ๆ สัญญาต้องทำให้ง่าย

ในขณะที่ฝั่งเอกชนอาจเข้าใจมาตลอด รู้เรื่องมาตลอด (ไม่มีการโยกย้ายเหมือนระบบราชการ) ฉะนั้น การบังคับใช้สัญญาไม่ให้เป็นการเสียเปรียบ เป็นไปตามบริบทในตอนต้น อันนี้สำคัญ