“4 ด้าน 4 ดี” โครงสร้างพื้นฐานเมืองกรุง นโยบายเส้นเลือดฝอยยุคทีมชัชชาติ

น้ำท่วม

14 เดือนเต็มบนการทำงานของทีมชัชชาติ (ข้อมูล ณ สิงหาคม 2566)

โดย key person “รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำกับดูแลด้านอินฟราสตรักเจอร์ของมหานครกรุงเทพ ภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี (ปลอดภัยดี โปร่งใสดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี สังคมดี เรียนดี บริหารจัดการดี) รวม 216 นโยบาย

สกัดออกมาเป็นงานด้านอินฟราสตรักเจอร์ของเมือง มี “4 ด้าน 4 ดี” ประกอบด้วย นโยบายเส้นเลือดฝอย ว่าด้วย “เดินทางดี+ปลอดภัยดี” กับนโยบายบริหารจัดการดี และสิ่งแวดล้อมดี เมื่อกะเทาะออกมาแล้วมี 82 นโยบายด้วยกัน จาก 216 นโยบาย

โดยทีมชัชชาติสรุปผลงาน 14 เดือนที่ผ่านมา และสิ่งที่จะทำต่อเนื่องในอนาคต ภายใต้เทอม 4 ปีของการบริหาร กทม. โดยทุกนโยบายมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนี้

รับมือน้ำท่วม-ปรับปรุงทางเท้า

“เดินทางดี” (เส้นเลือดฝอย) ผลงานที่ผ่านมา มีการ “ถอดบทเรียนและกำหนดมาตรการบริหารจุดเสี่ยงน้ำท่วม” ทั้งลอกท่อคลองเปิดทางน้ำ, ซ่อมคันกั้นน้ำ, ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ, เพิ่มปั๊ม และปรับปรุงพื้นที่ต่ำ ความต่อเนื่องเป็นเรื่องเพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์น้ำท่วม ด้วยกลไกเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำท่วมถนน และร่วมมือกับ WNI new technology (X-ban radar, CCTV+AI)

อีกเรื่องคือ “การปรับปรุงทางเท้า” แผนดำเนินการต่อเนื่องมีระยะทาง 1,000 กม. ทำไปแล้ว 221 กม. ประกอบด้วย นโยบาย BKK Trail เดิน+ปั่นดี 99 กม., โซนรอบสถานีรถไฟฟ้า, ย่านเศรษฐกิจ, ทางเท้าชุมชน (ระดับเขต), คืนสภาพผิวทางเท้าหน่วยงานสาธารณูปโภค 90 กม. และซ่อมแซม ตามที่ร้องเรียนผ่านแอป Traffy Fondue

ทั้งนี้ จุดโฟกัส 16 เส้นทางที่ประชาชนสัญจรมาก ระยะทางรวม 70 กม. ได้แก่ 1.ถนนสรรพาวุธ 2.ถนนอุดมสุข 3.ทางรถไฟสายปากน้ำเก่า 4.ถนนสีลม 5.ถนนสุทธิสารวินิจฉัย 6.ถนนราชดำริ 7.ถนนเพลินจิต 8.ถนนพระราม 4 9.ถนนราชปรารภ 10.ถนนเยาวราช 11.ถนนโชคชัย 4 12.ถนนมหาดไทย 13.ถนนเทศบาลสงเคราะห์ 14.ถนนพระราม 115.ถนนเสนานิคม และ 16.ถนนเอกมัย

รวมทั้งนโยบายดังว่าด้วยการนำสายไฟลงดิน ซึ่ง กทม.ยุติการลงทุนเพราะใช้งบฯลงทุนสูงตลอดโครงการถึง 20,000 ล้านบาท ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น ที่สำคัญ เมื่อสร้างท่อเพื่อนำสายไฟลงดิน มีค่าเช่าแพงกว่า 1 เท่าตัว คนอื่นให้เช่า 3,000 กว่าบาท/เดือน แต่ กทม.โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม คิดค่าเช่า 7,000 กว่าบาท/เดือน ทำให้ปิดโอกาสที่จะมีลูกค้ามาเช่าใช้ท่อ

ผลงานประจักษ์รวมถึงการคืนพื้นผิวจราจรให้คนกรุง ทยอยคืนความสุขคนกรุงตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2565-ล่าสุด 18 สิงหาคม 2566 อาทิ อุโมงค์ทางลอดแยกไฟฉายกับทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์, ปรับปรุงถนน 5 โครงการ และสร้างสะพานแยก ณ ระนอง กับแยกบางกะปิ

ขึ้นทะเบียน “ทางหลวงท้องถิ่น”

จุดโฟกัสในปีนี้ (ปีงบประมาณ 2567) มี 4 เรื่อง คือ

1.บริหารการจราจร ลดจุดฝืด ด้วยการกวดขันวินัยจราจร ปรับกายภาพ และใช้เทคโนโลยีระบบ ITMS แผนอนาคตทำต่อในเรื่องเพิ่ม CCTV ตรวจจับฝ่าฝืนวินัยจราจร 100 จุด, เพิ่มจุดกลับรถ, ผายปาก (ซอย), ทะลุซอยตัน, ปรับสัญญาณไฟจราจร POC technology, เพิ่มสัญญาณไฟจราจรทางแยกแบบ adaptive 122 ทางแยก, ติดตั้งไฟทางข้าม adaptive crosswalk 20 แห่ง, ปรับปรุงไฟกะพริบทางข้ามแบบกดปุ่ม 43 แห่ง

2.infrastructure asset management การขึ้นทะเบียนทางหลวงท้องถิ่น มีทั้งหมด 6,366 เส้นทาง เป้าหมายทำเสร็จในปี 2569 ปัจจุบันทำไปแล้ว 2,812 เส้นทาง เป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขาเพราะต้องขึ้นทะเบียนก่อน เพื่อเปิดทางให้ กทม. ใช้อำนาจตามกฎหมายทางหลวงท้องถิ่นมาบังคับใช้ เช่น การจัดเก็บค่าจอดรถริมถนน และจะเป็นแพลตฟอร์มให้หน่วยงานใส่ข้อมูลขออนุญาตด้านสาธารณูปโภคทั้งหลาย

3.เพิ่มความสะดวกการเดินทาง ได้แก่ ศึกษาออกแบบ cover walkway เพื่อก่อสร้างปี 2568, เตรียมทำสกายวอล์กแนวถนนราชวิถี เชื่อมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงแยกตึกชัย และสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

4.ส่งเสริมใช้แมสทรานสิตและเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้คนกรุง มีทั้ง BMA feeder รถเมล์บริการชุมชน ซึ่งจะมีการทดลองโมเดลและเส้นทางใหม่, bike sharing, รถเมล์ BRT ที่อยู่ระหว่างปรับโมเดลและรูปแบบการวิ่ง และปรับปรุงท่าเรือ 8 แห่ง

น้ำ-ถนน งบผูกพัน 2 หมื่นล้าน

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ แบ่งเป็น “ระบายน้ำ-ถนน-รถไฟฟ้า” ดังนี้

“ด้านระบายน้ำ” ที่เป็นงบฯผูกพันตั้งแต่ยุคผู้ว่าฯ กทม.คนก่อนหน้า มี 3 โครงการ ช่วงปี 2559-2569 ได้แก่ ก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนสู่เจ้าพระยา 4,925.67 ล้านบาท, อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงเจ้าพระยา 8,223 ล้านบาท และอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด 2,219.20 ล้านบาท รวมงบฯผูกพัน 15,367.87 ล้านบาท

“ด้านถนน” เป็นงบฯผูกพันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ ช่วงปี 2564-2568 ได้แก่ สร้างสะพาน 4 เลน อ่อนนุช-ลาดกระบัง ยาว 3.5 กม. วงเงิน 1,664.55 ล้านบาท, สะพานข้ามเจ้าพระยาแยกเกียกกาย 4-6 เลน และสะพานข้ามเจ้าพระยา 6 เลน วงเงินรวม 2,675 ล้านบาท, ปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และหัวหมาก ระยะทาง 2.2 กม. 729.78 ล้านบาท รวมงบฯผูกพันสร้างถนน 5,069.33 ล้านบาท

เบ็ดเสร็จ งบฯผูกพันสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ+ถนน วงเงินรวม 20,437.2 ล้านบาท

โดยมี 2 โครงการที่ริเริ่มในยุคทีมชัชชาติ คือ ถนนต่อเชื่อมพุทธมณฑลสาย 3-4 สร้างทางแยกต่างระดับและถนน 8 เลน ยาว 3 กม. วงเงิน 1,300 ล้านบาท กับปรับปรุงถนนพุทธมณฑลสาย 1 จาก 4-6 เลน เป็น 6 เลน ยาว 10 กม. วงเงิน 800 ล้านบาท ก่อสร้างในช่วงปี 2568-2570

ด้าน “รถไฟฟ้า” ทั้งหมดเป็นแผนอยู่ในกระดาษ มี 3 โครงการใหม่ คาดว่าดำเนินการได้ในช่วงปี 2569-2573 ได้แก่ 1.สายสีเขียว ส่วนต่อขยายบางหว้า-ตลิ่งชัน วงเงิน 14,804 ล้านบาท 2.รถไฟฟ้าสีเทา เฟสแรก วัชรพล-ทองหล่อ 29,130 ล้านบาท และ 3.รถไฟฟ้าสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ 48,380 ล้านบาท วงเงินรวม 92,314 ล้านบาท

สะพาน-ไฟสว่าง-ทางม้าลาย

ถัดมา นโยบาย “ปลอดภัยดี” (เส้นเลือดฝอย) มี 3 เรื่องหลัก 1.กรุงเทพฯต้องสว่าง ทุกเคสที่มีการแจ้งไฟดับจะต้องซ่อมทันที ทำแล้ว 34,011 ดวง แผนต่อเนื่องคือซ่อมตามที่รับแจ้ง (เป้าปีละ 13,000 ดวง) เปลี่ยนเป็นหลอด LED 25,848 ดวง เป้าอยู่ที่ 40,000 ดวง

2.ปรับปรุงทางม้าลาย ทั้งล้างทำความสะอาด, ทาสีขาว-สีแดง, ติดไฟกดปุ่ม และติดไฟกะพริบ 3.ติดกล้องวงจรปิดเพิ่มและพัฒนาระบบขอภาพ CCTV ทำไปแล้วคือกล้องป้องกันอาชญากรรม 63,700 ตัว แผนปี 2567-2569 ติดตั้งเพิ่ม 6,000 กล้อง และเพิ่ม CCTV ทางข้ามม้าลาย 100 จุด

นโยบายที่โฟกัสในปีนี้ 5 เรื่อง 1.วิเคราะห์ความปลอดภัยถนนมาตรฐานนานาชาติ (iRAP) เตรียมนำมาปรับปรุงกายภาพถนน 500 กม. 2.พัฒนาระบบรองรับแบบก่อสร้างและแปลนอาคาร ให้สามารถแยก section ทางหนีไฟที่ใช้งานสะดวก 3.สะพานปลอดภัยมั่นคงแข็งแรง แบ่งเป็นสะพานข้ามแยก 69 ตัว ยกระดับ 8 ตัว ต่างระดับ 3 ตัว สะพานลอยคนข้าม 695 ตัว

อีก 2 เรื่องทำต่อเนื่องในอนาคต 4.สะพานข้ามคลอง รวบรวมแบบก่อสร้าง 1,111 แห่ง และตรวจเช็กสะพานปีละ 400 แห่ง 5.ปรับปรุงศาลารถเมล์ให้สว่างปลอดภัย เป้าทำ 136 ศาลา เป็นแผนในปี 2566-2567

อัพเดตผังเมือง-ควบคุมอาคาร

ด้าน “บริหารจัดการดี” 3 เรื่องหลัก 1.ปรับปรุงข้อบัญญัติผังเมืองและควบคุมอาคารให้ทันสมัย เช่น อนุญาตให้ตึกแถวเก่าปรับปรุงอาคารได้ (สร้างนานใช้กฎหมายในอดีต จะปรับปรุงใหม่ต้องทำตามกฎหมายใหม่) แต่ใช้หลักโดยอนุโลม และกับประโยชน์สาธารณะ เช่น ทำ covered walkway เป็นต้น

2.จัดทำผังเมืองฉบับใหม่ เช่น ออกกฎหมายผังเมืองที่ประชาชนได้ประโยชน์ที่จับต้องได้, การหาวิธีแก้ซอยตัน, การแชร์ที่จอดรถระหว่างอาคาร, การกำหนดพื้นที่รับน้ำให้เพียงพอ

และ 3.Open Digital Platform นำเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาเมือง และโอเพ่นให้ประชาชนสามารถนำไปต่อยอดทำแอปพลิเคชั่น+เซอร์วิสได้

EV-โซลาร์รูฟ-บำบัดน้ำเสีย

สุดท้าย ด้าน “สิ่งแวดล้อมดี” สิ่งที่ทำแล้วและจะทำต่อเนื่องในอนาคต 5 เรื่องหลัก คือ 1.EV ecosystem มีการแชริ่งสถานีชาร์จอีวี (ออฟฟิศ สวน โรงพยาบาล) สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ EV รถมอเตอร์ไซค์

2.โซลาร์ มีการติดตั้งโซลาร์รูฟบนอาคาร กทม. เช่น โรงบำบัดน้ำเสีย 8 แห่ง

3.on-site treatment ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน 3 แห่ง และ 4.เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ด้วยการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถส่งน้ำให้ กทม.บำบัด แทนการลงทุนสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเอง และสนับสนุนใช้น้ำอย่างประหยัด

และ 5.โครงการใหม่ บำบัดน้ำเสียคลองเตย วงเงิน 5,568 ล้านบาท ช่วงปี 2568-2571