สำรวจ “ภาวะสิ้นยินดี” สังเกต 3 สัญญาณเบื้องต้น ควรรับมืออย่างไร

Artwork_Photo Anhedonia_Chulalongkorn

อาจารย์จิตวิทยา จุฬาฯ ชวนรู้จัก “ภาวะสิ้นยินดี” อาการร่วมที่พบบ่อยในผู้มีภาวะซึมเศร้า พร้อมแนะวิธีสังเกต 3 สัญญาณเบื้องต้นที่กำลังบอกว่าหมดความสุข ควรรับมืออย่างไร

วันที่ 9 กันยายน 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ รองคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนทำความรู้จักและสังเกตอาการที่สะท้อนความเสี่ยงเป็น “ภาวะสิ้นยินดี” (Anhedonia) เพื่อรับการปรึกษาจากนักจิตวิทยา ก่อนที่ความสามารถในการมี “ความสุข” จะหายไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยากล่าวว่า เป็นธรรมชาติของคนเราที่ต้องมีอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะการรับรู้หรือได้รับความรู้สึกเชิงบวก เช่น สบายใจ แช่มชื่นใจ ทั้งที่มาจากตัวเองหรือมาจากการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แต่เมื่อไรที่เรามี “ภาวะสิ้นยินดี” เราจะรู้สึกเหนื่อย เนือย ไม่มีความรู้สึกเชิงบวกใด ๆ ไม่ว่ากับอะไรหรือกับความสัมพันธ์ใด

ภาวะสิ้นยินดีเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ผศ.ดร.กุลยาอธิบายว่า ภาวะสิ้นยินดีเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ที่ทำให้เจ้าต้วไม่รู้สึกรู้สากับอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวก ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • ปัจจัยทางกายภาพ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรือสารเคมีในสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดในสมอง โรคซึมเศร้า เป็นต้น
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม อาจมีส่วนทำให้บางคนมีธรรมชาติและบุคลิกภาพค่อนข้างหม่นหมอง เศร้าง่าย
  • ปัจจัยทางสภาวะแวดล้อม เช่น ภาวะความเครียด เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนใจ ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) หรือผู้ที่อยู่ในภูมิประเทศที่มีฤดูหนาวเป็นระยะเวลานาน เหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกหม่นหมองต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้คนนั้น ๆ มีแนวโน้มขรึม เก็บตัว ไม่สดใส

“ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งกายภาพ สภาพแวดล้อม จิตใจ ล้วนเชื่อมโยงกัน การที่คนเรารู้สึกหม่นหมอง เนือย เหนื่อย เป็นเวลานาน ๆ และต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ลดทอนความสามารถในการรู้สึกอารมณ์เชิงบวกได้เหมือนกัน”

ภาวะสิ้นยินดีทางสังคมและทางกายภาพ

ผศ.ดร.กุลยาอธิบายว่าผู้ที่เป็นภาวะสิ้นยินดีมักจะมีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดหรือคนอื่น ๆ ในสังคม พวกเขาจะไม่สามารถตอบรับความรู้สึกด้านบวกได้ ไม่ว่าความสุข ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ทำให้ผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีไม่สามารถมีประสบการณ์เชิงบวกร่วมกับผู้อื่นได้ ยกตัวอย่าง เพื่อน ๆ หัวเราะกันสนุกสนาน แต่คนที่มีภาวะสิ้นยินดี จะไม่สามารถรู้สึกสนุกหรือหัวเราะกับคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งจะกระทบกับการเข้ากลุ่มและความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ นานวันเข้า ก็อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพและความสัมพันธ์กับคนอื่น

ภาวะสิ้นยินดีแสดงออกได้ 2 ลักษณะหลัก ๆ คือ

  1. ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม (Social anhedonia) คนกลุ่มนี้จะไม่รู้สึกอยากใช้เวลาร่วมกับครอบครัว คนใกล้ชิด เพื่อนฝูง คนรอบข้าง และผู้คนอื่น ๆ ในสังคม
  2. ภาวะสิ้นยินดีทางกายภาพ (Physical anhedonia) ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีการรับรู้ความรู้สึกทางกายเปลี่ยนไป หากเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์ ก็จะเหมือนหมดความรู้สึกจนคล้ายคนหมดสมรรถภาพทางเพศได้ นอกจากนี้ อาจจะไม่สนุกกับกิจกรรมที่เคยทำเหมือนก่อน อาหารที่เคยชอบก็ไม่ชื่นชอบอีกต่อไป ไม่รู้สึกสนุกสนานร่าเริงและมีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์ทางลบมากขึ้นได้

ผศ.ดร.กุลยาอธิบายต่อว่า ผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีทั้ง 2 แบบ จะไม่มีแรงจูงใจในการเชื่อมความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ไม่อยากใช้เวลาหรือมีส่วนร่วมกับผู้อื่น หรืออาจจะมีอาการของโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) รู้สึกว่าตัวเองไม่เข้าพวกกับคนอื่น หวาดกลัว วิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องพบเจอรู้จักคนใหม่และสถานที่ใหม่

“คนกลุ่มนี้จะเริ่มหายหน้าหายตา ปฎิเสธคำชวนไปร่วมกิจกรรมทางสังคม เริ่มมีชั่วโมงในการอยากอยู่คนเดียวนานขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ”

ภาวะสิ้นยินดี กับ ภาวะความด้านชาทางความรู้สึก

มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าภาวะความด้านชาทางความรู้สึก (Emotional numbness) และภาวะสิ้นยินดี เป็นภาวะเดียวกัน แต่ ผศ.ดร.กุลยาบอกว่า ภาวะทั้งสองไม่เหมือนกันสักทีเดียว

“ภาวะความด้านชาทางความรู้สึก จะคล้ายกับการฉีดยาชา ไม่มีความรู้สึกใด ๆ ไม่ว่าอารมณ์ทางบวกหรือทางลบ เฉย เนือย ไร้อารมณ์กับทุกสิ่ง เหมือนไม่สุขไม่ทุกข์ ภาวะนี้มักมาจากการที่คน ๆ นั้นมีประสบการณ์ทางลบด้านความรู้สึก จึงพยายามหลีกเลี่ยงอารมณ์ทางลบ กลายเป็นไม่รับรู้ความรู้สึกอะไรเลย เฉยชาด้านอารมณ์ทั้งหมด

ส่วนภาวะสิ้นยินดีเป็นภาวะที่ไม่มีความรู้สึกทางบวก แต่ยังคงรับรู้และแสดงความรู้สึกเชิงลบได้อยู่ ผู้ที้มีภาวะสิ้นยินดีจะไม่รู้สึกถึงอารมณ์ในเชิงบวกเลย ไม่มีความรู้สึกอิ่มเอิบใจ ปลื้มใจ ไม่หัวเราะ อาจดูเหมือนรู้สึกเฉย ๆ เหมือนภาวะด้านชา แต่ยังสามารถรับรู้และแสดงความรู้สึกเชิงลบได้ เช่น ความไม่สบายใจ ความกังวล กลัว เบื่อ ซึ่งอาการเหล่านี้ดูคล้ายและเกือบเป็นภาวะซึมเศร้าเลยทีเดียว”

สิ้นยินดีนาน ๆ อาจทำซึมเศร้าหนักขึ้น

ภาวะสิ้นยินดีเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า ผศ.ดร.กุลยาเผยว่าร้อยละ 60 ของผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดี มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น เพราะทั้งสองภาวะมีความเหมือนกันอยู่ 2 เรื่อง คือ อารมณ์ความรู้สึกทางลบ และสิ่งที่เคยทำให้รู้สึกชื่นชอบสบายใจ ไม่ได้ทำให้มีความสุขอีกต่อไป

“เวลาเป็นซึมเศร้า ใจจะดิ่ง อารมณ์ลบจะเยอะ พยายามทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อดึงความรู้สึกให้ดีขึ้น ไม่ว่าดูหนัง ฟังเพลง เล่นกับน้องแมวที่บ้าน ก็อาจจะยังไม่ดีขึ้น ซึ่งถ้าเรามีภาวะซึมเศร้าต่อเนื่องนาน ๆ ก็จะเกิดภาวะสิ้นยินดีได้

ในอีกทาง หากมีภาวะสิ้นยินดีบ่อย ๆ เราก็จะหมดความรู้สึกสนใจหรือพึงพอใจในการทำสิ่งที่ชื่นชอบ ดึงอารมณ์เชิงบวกได้ยากหรือไม่ได้ จนในที่สุดก็จะเหลืออารมณ์เชิงลบอย่างเดียว นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้”

สังเกตสัญญาณ “ภาวะสิ้นยินดี”

ผศ.ดร.กุลยากล่าวว่า แต่ละคนจะมีสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “คู่มือความสุขเฉพาะตน” คือความรู้ตัวว่าทำอะไร ไปที่ไหน เจอใคร แล้วจะมีความสุข สนุก พอใจ อารมณ์ดีขึ้น เมื่อเวลามีอารมณ์ลบ เราก็จะไป ทำ หรือพบกับสิ่งที่เราชอบ เพื่อจะทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นได้ แต่หากสิ่งที่เราเคยทำแล้วมีความสุข ไม่อาจทำให้เกิดความรู้สึกดีได้อีก นั่นอาจเป็นสัญญาณที่ชวนให้เราเริ่มถามตัวเองว่า “ตัวเรามีภาวะสิ้นยินดีแล้วหรือเปล่า”

สังเกตเบื้องต้น 3 เรื่อง ที่จะช่วยให้เราจับสัญญาณภาวะสิ้นยินดี ดังนี้

  1. สังเกตความรู้สึกเวลาที่ทำกิจกรรมที่ชอบ ยังรู้สึกชอบ สนุกหรือมีความสุขอยู่ไหม ถ้าเราอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือสิ่งที่เราเคยชอบทำ แล้วไม่รู้สึกสนุกหรือชอบเหมือนเดิม ก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะสิ้นยินดีได้ แต่ก็ไม่เสมอไป เราอาจจะต้องสังเกตต่อไปว่าอารมณ์ความรู้สึกทางบวกในเรื่องอื่น ๆ หรือช่วงอื่น ๆ มีน้อยลงด้วยหรือไม่
  2. สังเกตความคิด ความคิดของเราเป็นเชิงลบ หม่นหมองหรือไม่ เราได้พยายามปรับมุมมองให้เป็นบวกมากขึ้นแล้วหรือยัง ปรับมุมมองให้บวกได้สำเร็จหรือไม่ ถ้าเรามีความรู้สึกเชิงบวก เราจะมองคนในเชิงบวก อยากสร้างสัมพันธ์กับผู้คน แต่ถ้าเราตกอยู่ในภาวะสิ้นยินดี เราจะรู้สึกว่าโลกไม่น่าอยู่ ไม่อยากสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ หรือไม่รู้สึกกระตือรือร้นที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้ว
  3. สังเกตร่างกาย รู้สึกเหนื่อยจากการทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่าปกติหรือไม่ ตื่นมาแล้วรู้สึกไม่แจ่มใส รู้สึกล้า หมดแรงหรือเปล่า

สมรรถภาพทางกายและสมรรถภาพทางเพศเป็นเกณฑ์ประเมินภาวะสิ้นยินดีได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่กับทุกกรณี สิ่งที่เราพอสังเกตได้คือร่างกายของเรายังแข็งแรงเป็นปกติดีไหม ออกกำลังกายได้เท่าเดิมหรือเปล่า มีความเปลี่ยนแปลงด้านสมรรถภาพทางเพศหรือไม่ ที่สำคัญ เวลาที่รู้สึกอ่อนล้า เหนื่อย ถ้าได้พักผ่อน นอนแล้ว ร่างกายกลับมากระชุ่มกระชวย อารมณ์ดีสดใสขึ้น แต่ถ้านอนพักแล้ว ยังรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อย ล้า หมดแรงที่จะทำอะไร ก็อาจเป็นสัญญาณภาวะสิ้นยินดีได้

วิธีรับมือ “ภาวะสิ้นยินดี”

หากเราสังเกตเห็นอาการเบื้องต้นของภาวะสิ้นยินดีแล้ว เราต้องรีบปรับอารมณ์เสียตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้พลังบวกกลับมาในชีวิตให้เร็วที่สุด ผศ.ดร.กุลยาแนะวิธีการรับมือกับภาวะสิ้นยินดี ดังนี้

  • เติมพลังบวก ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ โดยอาจเริ่มจากลงมือทำในสิ่งที่เคยชอบ ฝึกเติมพลังบวกเรื่อย ๆ ทีละเล็กทีละน้อย เพิ่มอารมณ์บวกบ่อย ๆ เพื่อกันอารมณ์ลบให้ไปห่าง ๆ
  • หมั่นสังเกตและรับรู้อารมณ์ตามที่เป็น ไม่ว่าจะอารมณ์ด้านลบหรือบวก
  • โอบกอดตัวเองและหมั่นเติมความรักให้ตัวเอง
  • ฝึกใจ ปรับโฟกัส ให้ชื่นชมกับการกระทำและความสำเร็จเล็ก ๆ ในชีวิต ยังไม่ต้องทำกิจกรรมที่ต้องลงแรงมากให้เริ่มจากทำสิ่งเล็ก ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และปล่อยให้ตัวเองมีความสุขระหว่างทำกิจกรรม
  • ปรึกษานักจิตวิทยาและจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและการรักษา

ผศ.ดร.กุลยาให้คำแนะนำทิ้งท้ายว่า เวลาที่เป็นภาวะสิ้นยินดี เรามักจะเก็บตัวอยู่ในห้อง อยากอยู่คนเดียว ดังนั้น เราควรจะออกไปข้างนอกบ้าง ให้ร่างกายได้เจอแสงแดด ได้รับแสงสว่างบ้าง ลองทำอะไรเล็ก ๆ น้อยๆ แล้วสังเกตว่าอะไรที่ช่วยดึงใจเราให้ดีขึ้นได้บ้าง สิ่งที่ช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง เท่านี้ก็ดีพอแล้ว
รู้ไหมว่าการได้คุยกับใครสักคนช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ เรามีศูนย์สุขภาวะทางจิต (Psy Wellness) เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่มีนักจิตวิทยาการปรึกษา ช่วยให้คุณได้เข้าใจตัวเอง คนอื่น และสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ เรายินดีรับฟังและให้คำปรึกษาในทุก ๆ เรื่อง