เปิดข้อมูล 2 บริษัทกำนันนก ประมูลโครงการรัฐ รวมกว่า 7 พันล้านบาท

กำนันนก ประมูลโครงการรัฐ

DSI เปิดข้อมูล 2 บริษัทเครือข่าย “กำนันนก” เข้าประมูลโครงการรัฐ กว่า 1,500 โครงการ วงเงินงบประมาณรวมกว่า 7 พันล้านบาท พบ 20 โครงการสงสัยฮั้วประมูล 

วันที่ 13 กันยายน 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษเปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข้อมูลว่า “นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก” มีการทำธุรกิจในเครือข่ายหลายธุรกิจที่เข้าเสนอและรับงานจากหน่วยงานของรัฐหลายกระทรวงในพื้นที่หลายจังหวัด โดยประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ผลิต และจำหน่ายยางแอสฟัลติกคอนกรีต ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย มีมูลค่าหลายพันล้านบาท

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มอบหมายให้กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กคร.) ตรวจสอบข้อมูลในฐานข้อมูลของ กคร. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ผลการตรวจสอบพบว่า เครือข่ายกำนันนก มีเครือข่ายธุรกิจที่เข้าไปรับงานจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน รวม 1,544 โครงการ ในวงเงินงบประมาณ 7,579,402,078.72 บาท และวงเงินทำสัญญารวม 6,964,815,249.47 บาท จำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด (เข้ารับงาน 923 โครงการ) และบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด (เข้ารับงาน 621 โครงการ)

จากกรณีดังกล่าว กองคดีความผิดเกี่ยวกับเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนคดีฮั้วประมูลที่มีมูลค่าวงเงินสัญญาตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1)

ประกอบกับ ประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

จึงได้ทำการตรวจสอบพบว่า มีโครงการที่ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด ได้งานจากภาครัฐที่มีมูลค่าโครงการจำนวนเกิน 30 ล้านบาท จำนวน 18 โครงการ และ บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ได้งานจากภาครัฐที่มีมูลค่าโครงการจำนวนเกิน 30 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ

และพบว่าในจำนวน 20 โครงการนี้ พบว่าข้อมูลที่มีเหตุอันควรสงสัยจะมีการได้เข้าทำสัญญากับภาครัฐโดยไม่โปร่งใส มีลักษณะอันอาจเข้าข่ายตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อมีวัตถุประสงค์เข้าทำสัญญากับรัฐโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยกีดกันไม่ให้มีการเสนอราคาอันมิใช่เป็นการประกอบธุรกิจปกติ ประกอบไปด้วย

  • โครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม-ต.ลำลูกบัว โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) (เลขที่โครงการ : 59086265559) งบประมาณ 300,000,000 บาท
  • โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว-บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) งบประมาณ 350,000,000 บาท

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงมีคำสั่งให้ทำการสืบสวน ตามมาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมาย (คดีสืบสวนที่ 115/2566) และกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กคร.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ และอยู่ระหว่างการดำเนินสืบสวน

มติชน รายงานว่า ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ได้ออกหมายเรียกพยานแก่ 65 บริษัท เพื่อให้ทยอยเข้าให้ข้อมูลชี้แจงในห้วงวันที่ 18-20 กันยายน ซึ่งบริษัททั้งหมดนี้เคยมีการยื่นซื้อซองใน 2 โครงการดังกล่าว แต่ไม่เข้าร่วมในขั้นตอนการประมูล e-Bidding ซึ่งเป็นพฤติการณ์ต้องสงสัย

หลังจากนั้น ดีเอสไอจึงจะเข้าไปตรวจสอบสถานที่ตั้งของบริษัททั้ง 65 แห่ง รวมถึงในการสอบปากคำบริษัทเหล่านี้ในฐานะพยาน จะถามผู้ยื่นซื้อซองว่ามีประสบการณ์เกี่ยวกับการประมูลเหล่านี้ได้อย่างไร มาเกี่ยวข้องได้อย่างไร และระหว่างนั้นเคยถูกข่มขู่คุกคาม บังคับขู่เข็ญไม่ให้เข้ามาในวันประมูล e-Bidding หรือไม่

กรมสอบสวนคดีพิเศษระบุอีกว่า ได้มีบุคคลที่ไม่ประสงค์จะแจ้งตัวตนได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเครือข่ายบุคคลที่เกี่ยวข้องมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการขยายผลการดำเนินคดีกับเครือข่ายได้เป็นอย่างดี

และขอให้บุคคล/บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่ได้รับหรือเคยได้รับผลกระทบจากการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการข่มขู่ คุกคาม หรือกีดกัน ไม่ให้เข้าร่วมการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐอย่างเป็นธรรม จากนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก และเครือข่าย ขอให้แจ้งข้อมูลมายังกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กคร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยเร็ว

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะพิจารณาในเรื่องการคุ้มครองพยานตามมาตรการคุ้มครองพยาน เพื่อกวาดล้างขบวนการและร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในรูปแบบของผู้มีอิทธิพลอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป