กรมควบคุมโรค เผยผู้ป่วยฝีดาษลิงพุ่ง มากกว่าครึ่งมีเชื้อ HIV ด้วย

ฝีดาษลิง ฝีดาษ

กรมควบคุมโรคเผยผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรเพิ่มต่อเนื่อง มากกว่าครึ่งเป็นผู้ที่มีเชื้อ HIV ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายรักชายมีคู่นอนมากกว่า 1 คน ย้ำมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย และงดมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก

วันที่ 21 กันยายน 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดของโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ในประเทศไทยในสัปดาห์นี้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 42 ราย เพศชาย 41 ราย เพศหญิง 1 ราย แบ่งเป็นสัญชาติไทย 38 ราย (ร้อยละ 90.5) เมียนมา 2 ราย จีน 1 ราย อิตาลี 1 ราย

ผู้ป่วยรายใหม่ที่พบเป็นผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย 29 ราย (ร้อยละ 69.0) ของผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายรักชาย 33 ราย Bisexual 3 ราย ชายรักหญิง 3 ราย ไม่ระบุ 3 ราย และผู้ป่วยใหม่ 17 ราย หรือ (ร้อยละ 40.5) มีประวัติเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

ส่วนสถิติรวมตั้งแต่ต้นปี (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม-18 กันยายน 2566) มีรายงานพบผู้ป่วยรวม 385 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง

พร้อมกันนี้ กรมควบคุมโรคย้ำว่า สำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร ได้แก่ 1) มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย 2) ทำความสะอาดห้องหรือใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วยขณะผู้ป่วยมีอาการ 3) เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานรขณะป่วย 4) พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ปิด และ 5) นั่งชิดติดกับผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานร โดนไอจามรดโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย

หากมีประวัติดังกล่าว ให้สังเกตอาการตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ หรือมีอาการเจ็บคอ คัดจมูก ไอ มีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ รวมถึงมีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า บริเวณปาก หรืออวัยวะเพศและรอบทวารหนัก เป็นต้น

ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา พร้อมกับแยกตัวออกจากสมาชิกในครอบครัว ที่พัก หรือสถานที่ทำงาน

อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษวานร สามารถป้องกันได้ โดยงดเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตน สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422