ลำปาง พบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรก ไม่มีประวัติไปเมืองนอก-ต่างจังหวัด

สสจ ลำปาง ฝีดาษลิง

ลำปาง พบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรก ไม่มีประวัติเดินทางต่างประเทศ-เดินทางออกนอกจังหวัด สสจ.ลำปาง ดำเนินการเฝ้าระวังแล้ว ขอชาวลำปางอย่าตระหนก

วันที่ 19 ตุลาคม 2566 นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร จำนวน 1 ราย เมื่อเช้าวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษาที่แผนกอายุรกรรมทั่วไป โรงพยาบาลลำปาง ด้วยอาการมีตุ่มนูนขึ้นบริเวณใบหน้า ขมับซ้าย แก้มขวา คาง และที่มือทั้งข้าง ตุ่มกดเจ็บ

จึงสั่งการให้งานระบาดวิทยาดำเนินการสอบสวนโรค และเก็บตัวอย่างจากแผลผู้ป่วยส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่ และได้รับรายงานยืนยันเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ว่าผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิง เบื้องต้นทางโรงพยาบาลได้รับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในห้องแยกโรคและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายนพรัตน์ วัชรขจรกุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าว ถือเป็นรายแรกของจังหวัดลำปาง โดยหลังจากที่ผลการตรวจยืนยันแล้วทาง สสจ.ลำปาง ได้มีการลงพื้นที่สอบสวนโรคทันทีเบื้องต้นพบว่าชายคนดังกล่าวไม่ได้ไปต่างประเทศและอยู่แต่ไหนพื้นที่จังหวัดลำปาง

ส่วนอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยนั้นถือว่ายังไม่รุนแรงและได้ทำการรักษาในห้องแยกโรคตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และเบื้องต้นผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองไปติดเชื้อมาจากที่ไหน ซึ่งขณะนี้ เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค และได้ให้บุคคลที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยสังเกตุและเฝ้าดูอาการตนเอง 21 วันและขออย่าให้ประชาชนตกใจ เนื่องจากโรคดังกล่าวนั้นไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ

โดยให้พยามหลีกเลี่ยงหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ที่เป็นผื่นตุ่มหนองโดยตรงหรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย การไอจาม หรือจากสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ และการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าหรือผู้ติดเชื้อไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น และควรล้างมือบ่อย ๆ

ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งตรวจสอบความพร้อมใช้ของถุงมือ, หน้ากากอนามัยทางการแพทย์, หน้ากากอนามัยชนิด N95, gown, แอลกอฮอล์ล้างมือ รวมทั้งความพร้อมของห้องแยก โดยไม่จำเป็นต้องใช้ห้องความดันลบ

ขอชาวลำปางอย่าตระหนก-หมั่นดูแลตนเอง

สำนักสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ระบุว่า โรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด DNA ชื่อ monkey pox ซึ่งเกิดการติดเชื้อในสัตว์มาก่อน และสามารถติดเชื้อจากสัตว์สู่คนได้ อาการของโรคจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ที่สำคัญคือมีต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นลักษณะเป็นผื่นแบน จากนั้นค่อยนูนเป็นตุ่มน้ำใส หรือเป็นตุ่มหนอง ผื่นมักเกิดที่หน้า แขนขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มากกว่าที่ตัว

สามารถพบได้ในเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ในช่องปาก เยื่อบุตา อวัยวะเพศ และทวารหนัก โรคสามารถติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัส ทั้งจากสัตว์สู่คน (ได้แก่ สัตว์จำพวกหนู กระรอก และลิง) และจากคนสู่คนที่ใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ โดยการสัมผัสที่ผื่นโดยตรง สัมผัสเลือด สัมผัสสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย การไอจาม หรือจากสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มชายรักชาย

การป้องกันโรคฝีดาษวานร มีดังนี้ 1.งดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า 2.ไม่สัมผัสกับผู้มีผื่น ตุ่มหนอง 3.ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น และ 4.ล้างมือบ่อย ๆ

สสจ.ลำปาง ระบุอีกว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ร้ายแรง และไม่ม่ติดต่อกันได้ง่าย ขอให้ชาวลำปางอย่าได้ตื่นตระหนก ทาง สสจ.ลำปาง ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมโรคนี้แล้ว และขอความร่วมมือชาวลำปางสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันโรค หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์