PUBAT คัดค้านบังคับหนังสือเป็น “สินค้าควบคุมฉลาก” ชี้ไม่เป็นสากล

หนังสือ งานหนังสือ มหกรรมหนังสือ
ภาพจาก Facebook Thai Book Fair

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) คัดค้านบังคับหนังสือ-แบบเรียน เป็น “สินค้าควบคุมฉลาก” ชี้เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย กระทบราคาหนังสือ และไม่เป็นไปตามอุตสาหกรรมหนังสือในระดับสากล

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย โพสต์จดหมายผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thai Book Fair ถึงการขอให้ยกเลิกหนังสือเป็นสินค้าควบคุมฉลากโดยทันที โดยระบุว่า หนังสือไม่ใช่สินค้าอันตราย มีรายละเอียดตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์แล้ว

พร้อมทั้งได้มีการแนบภาพหนังสือถึงประธานคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เรื่อง คัดค้านการบังคับใช้และเสนอให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่องการกำหนดให้แบบเรียนและหนังสือเป็นสินค้าควบคุมฉลาก

รายละเอียดสำคัญของหนังสือฉบับดังกล่าว คือ การประกาศให้หนังสือเป็นสินค้าควบคุมฉลากนั้น เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายแก่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายหนังสือ กระทบไปถึงราคาของหนังสือ เป็นการสร้างอุปสรรคกีดขวางในการดำเนินธุรกิจหนังสือ ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนตามแนวนโยบายซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติในปัจจุบัน

อีกทั้งการกำหนดเรื่องดังกล่าว เป็นการขัดระเบียบกฎหมายอื่น และในอุตสาหกรรมหนังสือระดับสากลไม่มีการกำหนดเรื่องดังกล่าว

“หนังสือ” ไม่มีมาตรฐานบังคับ

มติชน รายงานเมื่อ 28 ตุลาคม 2566 ระบุว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข่าว ประกาศคณะกรุรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง กำหนดประเภทของสินค้าให้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2565 มีรายละเอียดส่วนหนึ่งระบุให้ หนังสือ และแบบเรียน เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ต้องปฏิบัติตามคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก

ซึ่งมีผู้ตีความว่า หนังสือและแบบเรียนทุกเล่ม ต้องมีมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เป็นเรื่องไม่ถูกต้องและจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียว ในโลกที่แบบเรียนและหนังสือต้องติดฉลากให้ตรงตามเงื่อนไข จึงเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกประกาศดังกล่าว นั้น

นายวันชัย พนมชัย รักษาการเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ขอขี้แจงว่า การตีความดังกล่าวเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยขอชี้แจง ดังนี้

คณะกรรมการว่าด้วยฉลากดังกล่าว อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่อยู่ภายใต้สั่งกัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดย สมอ.ไม่มีมาตรฐานบังคับสำหรับหนังสือเรียน มีเพียงมาตรฐานกระดาษพิมพ์และเขียน มอก. 287-2565 ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่ใช่มาตรฐานบังคับ

สำหรับมาตรฐานบังคับนั้น สมอ. จะบังคับเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความูปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น สายไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ปลั๊กพ่วง เตารีด หม้อหุงข้าว พัดลม ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ วัสดุก่อสร้าง เหล็กโครงสร้าง เหล็ก ก่อสร้าง ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางรถยนต์ กระจกรถยนต์ เข็มขัดนิรภัย เป็นต้น

นายวันชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานใดจะประกาศใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยอ้างอิงมาตรฐาน มอก.ก็สามารถทำได้ โดยใช้ความอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานนั้น ๆ