สวนดุสิตโพลเผยความเห็น เกี่ยวกับลอยกระทง 2566 กับประวัติศาสตร์ไทย

สวนดุสิตโพล ลอยกระทง

สวนดุสิตโพล เผยความคิดเห็นคนไทย เกี่ยวกับลอยกระทง 2566 ระบุ “การเปลี่ยนแปลงของสังคม ค่านิยม และพฤติกรรมของคนไทย” คือปัญหาและอุปสรรคการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณี และประวัติศาสตร์ไทยมากที่สุด

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “วันลอยกระทงกับวัฒนธรรมประเพณี และประวัติศาสตร์ไทย” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,424 คน (สำรวจทางออนไลน์) สำรวจระหว่างวันที่ 12-23 พฤศจิกายน 2566

ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างพอมีความรู้บ้างเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวันลอยกระทง ร้อยละ 69.03
โดยมองว่าวันลอยกระทงเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีไทยสู่สายตาชาวโลก ร้อยละ 95.35 และเห็นว่าประเพณีลอยกระหงมีศักยภาพในการเป็น Soft Power ในระดับมาก ร้อยละ 70.72 เนื่องจากช่วยตึงดูดความสนใจ ทำให้ต่างชาติเห็นถึงประเพณี ศิลปะ ดนตรี อาหาร การแต่งกาย ร้อยละ 89.63

ทั้งนี้วันลอยกระทงทำให้ประชาชนสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น ร้อยละ 51.54 ด้านปัญหาและอุปสรรคของการถ่ายทอดวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ไทย คือ การเปลี่ยนแปลงของสังคม ค่านิยมและพฤติกรรมของคนไทย ร้อยละ 71.59 จึงควรนำเทคโนโลยีและสื่อโซเชียลมาช่วยเผยแพร่ เชื่อมโยงกับปัจจุบัน ร้อยละ 85.09

ผศ.ดร.สาระ มีผลกิจ โรงเรียนการท่องเที่ยวและบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า จากการเสวนากลุ่มเรื่อง “ประวัติศาสตร์สร้าง Charisma” พบว่า “ประวัติศาสตร์” อุดมไปด้วยสหวิทยาการ ความรู้ ทำให้เรารู้มาก เข้าใจมาก อธิบายได้มาก จนทำให้เราเป็นคนรอบรู้ มีเสน่ห์ทางปัญญาและสามารถนำวัฒนธรรมมาปรับใช้

เช่น ม.สวนดุสิตมีวัฒนธรรมสวนดุสิต โดยเฉพาะการมีบุคลิกภาพที่ดีทั้งกายและจิตใจ เติมด้วยภูมิปัญญาทางสมอง ด้วยการมีวิธีคิดทางประวัติศาสตร์ พร้อมเป็นผู้มีความมั่นใจในตัวเอง จะทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ด้วย “ประวัติศาสตร์” อ่านแล้วไม่ต้องเชื่อ…ต้องลองสนใจประวัติศาสตร์ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวแล้วจะเข้าใจ ทุกวันนี้คนรู้จักประวัติศาสตร์น้อยไป คิดสั้น ๆ เพียงแค่ว่าคือการท่องจำเรื่องเดิม ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ “น่าขบขันยิ่งนัก”

ด้าน ผศ.ดร.ดวงกมล อัศวมาศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า หากกล่าวถึงความมีเสน่ห์ของวิชา “ประวัติศาสตร์และโบราณคดี” จากมุมมองของคนที่ชื่นชอบและสนใจ จะแยกแยะได้ถูกต้องว่า วิธีของการศึกษาของศาสตร์ทั้งสองนั้นมีความแตกต่างกัน

โดยประวัติศาสตร์จะค้นคว้าศึกษา “เอกสาร ตำรา” อย่างเป็นระบบระเบียบเทียบกับขั้นตอนวิทยาศาสตร์ ส่วนโบราณคดี คือ “การสำรวจขุดค้น” ตรวจสอบชั้นดินที่นำวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยและหลากหลายเข้าช่วยศึกษา

แต่โดยรวมแล้วต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อทำความเข้าใจ “มนุษย์” เรื่องราวของสังคม วัฒนธรรมและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตัวอย่างเช่น “งานลอยกระทง” ที่ผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลพบว่า ประชาชนให้ความสนใจมากขึ้นถึงร้อยละ 51.54

ฉะนั้น หากเราย้อนอดีตได้มาก เราก็จะเข้าใจปัจจุบันและอนาคตได้ดีมากขึ้ น เชื่อว่าใครได้เรียนสองศาสตร์นี้จะเพิ่มคาริสม่าอย่างแน่นอน