“อุตตม”ดึงโตโยต้าช่วยSMEsไทยผ่านศูนย์ ITC พร้อมจีบRyoki Toolรายใหญ่ญี่ปุ่นลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานMROอู่ตะเภา

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการเดินทางเข้าร่วมประชุมประจำปีอินเตอร์เนชั่นแนล คอนเฟอเรนซ์ ออน เดอะ ฟิวเจอร์ ออฟ เอเชีย : นิกเคอิ ฟอรั่ม ครั้งที่ 24 (Nikkei forum) ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ว่าในโอกาสนี้ได้พบกับนายทาเคชิ อูชิยามาดะ ประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะประธานสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือเจเทค (JTEC:Japan-Thailand- Economic Cooperation Society) ซึ่งแสดงความพร้อมให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ( SMEs) สามารถเข้าถึงและเข้าใจการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็น เช่น ด้านออกแบบและบูรณาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยตั้งเป้าพัฒนาบุคลากร 1,400 รายภายใน 3 ปี

โดยจะให้เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในพาทเนอร์ที่จะช่วยสนับสนุน อบรม SMEs ไทย ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท Denso Corporation ที่ช่วยฝึกอบรม “ลีน ออโตเมชั่น ซิสเต็ม อินทิเกรเตอร์ (Lean Automation System Integrators: LASIs)” ภายใต้แนวคิด “Connected Industries” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “Project for Nurturing New Industries in ASEAN and Japan” สนับสนุนโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น (METI)

ขณะเดียวกันยังได้ชักชวนนายยาซูฮิโร่ ฮาระ ซีอีโอบริษัท เรียวกิ ทูล ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ที่สนใจเข้ามาลงทุนจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภาคพื้นเอเชีย (MRO) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเร็วๆ นี้จะเข้ามาสำรวจลู่ทางการลงทุน รวมถึงบริษัท นาชิ ฟูจิโกชิ คอปอเรชั่น ผู้จำหน่ายแขนกลหุ่นยนต์อันดับ 2 ในไทย ก็สนใจเข้ามาลงทุนในสายการผลิตแขนกลหุ่นยนต์ในไทยด้วยเพราะนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงร่วมกันที่จะตั้งกลุ่มความร่วมมือระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) สมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กรุงเทพฯ กับกระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น (สสท.) จะเร่งจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้แล้วเสร็จมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติขึ้นจริงในการสร้างผู้ประกอบการไทยให้มีความรู้และมีศักยภาพด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์รวมถึงคุณภาพบุคลากร

“ตามการเดินทางไปญี่ปุ่นในครั้งนี้ พบว่านักลงทุนไม่ได้มีความเป็นห่วงการเลือกตั้งที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้า โดยเฉพาะโครงการของ EEC ที่มีกฎหมายรองรับชัดเจน ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันถึงความต่อเนื่องที่ต้องเดินตามนโยบายหลักของประเทศ”