บีบีซีเปิดประวัติ ‘นักกู้ภัยชาวอังกฤษ’ ที่พบหมูป่าเป็นทีมแรก ประสบการณ์กู้ภัยในถ้ำโชกโชน

นายริชาร์ด สแตนตัน (ซ้าย) โรเบิร์ต ฮาร์เปอร์ (กลาง) และนายจอห์น โวลันเธน (ขวา)

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 สำนักข่าวบีบีซี เผยแพร่รายงานข่าวเกี่ยวกับนักกู้ภัยชาวอังกฤษที่เป็นผู้พบสมาชิกทีมหมูป่า 13 ชีวิตเป็นทีมแรกระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยประสบการณ์สูงที่เคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากพระราชวังบักกิงแฮม มาแล้ว

โดยบีบีซี ระบุว่า เสียงที่อยู่ในคลิปวินาทีที่เจ้าหน้าที่กู้ภับพบทีมหมูป่าในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่ถูกแชร์ไปในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวางนั้นก็คือคือเสียงของ “นายจอห์น โวลันเธน” นักกู้ภัยชาวอังกฤษ ที่ดำน้ำเข้าไปกับ “นายริชาร์ด สแตนตัน” โดยนักกู้ภัยทั้งสองคนคือผู้เชี่ยวชาญการสำรวจถ้ำจากอังกฤษที่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของไทย และเดินทางมาพร้อมกับ “นายโรเบิร์ต ฮาร์เปอร์” ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่ง

นายจอห์น โวลันเธน

รายงานระบุว่า สมาคมช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายในถ้ำของอังกฤษ (บีซีอาร์ซี) กล่าวว่าทั้งสามคนเดินทางมาถึงประเทศไทย 3 วันหลังจากทีมฟุตบอลหมูป่าหายตัวเข้าไปในถ้ำ และว่านักสำรวจและนักประดาน้ำอังกฤษทั้งสามคนนี้ได้ผ่านการสำรวจถ้ำมาเป็นจำนวนมาก ทำให้พวกเขามีความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและระบบภายในถ้ำเป็นอย่างดีทำให้ทั้งสองคนกลายมาเป็นแนวหน้าในการดำน้ำในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนเพื่อค้นหาทีมหมูป่าทั้ง 13 คน

ในคำแถลงการณ์สมาคมระบุว่า เมื่อเวลาราว 16.30 น. ตามเวลาอังกฤษ “เราได้เริ่มได้รับข่าวดีว่า เด็กทั้ง 12 คนและโค้ชของพวกเขา ได้ถูกระบุตำแหน่งว่าอยู่ในจุดที่แห้งภายในถ้ำ” และว่า”หลังจากรับทราบข่าวนี้ไม่นาน เราได้รับการยืนยันสั้น ๆ จากนักประดาน้ำของเราถึงข่าวดี ว่าเด็กที่สูญหายทั้งหมดได้ถูกพบแล้วและพวกเขายังมีชีวิตอยู่”

เว็บไซต์บีบีซีรายงานด้วยว่า นายแสตนตัน และนายโวลันเธน เป็นส่วนหนึ่งของชุดทีมกู้ภัยเซาธ์แอนด์มิดเวลส์ที่ช่วยนักประดาน้ำที่ติดอยู่ภายในถ้ำในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 2010

ตามรายงานจากการช่วยเหลือในปี 2010 ครั้งนั้น นายแสตนตัน เป็นนักผจญเพลิงในเมืองโคเวนทรี ของอังกฤษ และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือนักสำรวจชาวอังกฤษจำนวน 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำของเม็กซิโกเมื่อปี 2004

นอกจากนี้ ตามข้อมูลออนไลน์ นายโวลันเธน เป็นนักวิ่งมาราธอน และอัลตร้ามาราธอนด้วย รวมถึงเคยกล่าวติดตลกว่า เขาแค่วิ่งเพื่อที่จะสามารถกินบิสกิตเพิ่มได้

นายโวลันเธน ที่ปรึกษด้านไอที ทำงานอยู่ในเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ เติบโตในเมืองไบรตัน เริ่มต้นสนใจการสำรวจถ้ำตั้งแต่เป็นลูกเสือ โดยนายโวลันเธน ให้สัมภาษณ์กับซันเดย์ไทม์เมื่อปี 2013 ระบุว่าการกู้ภัยในถ้ำนั้นจำเป็นที่จะต้องมีความใจเย็น

“ความตื่นตระหนกและอะดรีนารีนนั้นดีในบางสถานการณ์ แต่ไม่ใช่การดำน้ำในถ้ำ” โวลันเธนระบุ และว่า “ไม่ว่าจะอะไรก็ตามสิ่งสุดท้ายที่คุณต้องการก็คืออะดรีนารีน”

โวลันเธน ระบุในการสัมภาษณ์ดังกล่าวด้วยว่า การกู้ภัยในถ้ำนั้นเหมือนการเล่นเกมปริศนาปัญหาเชาวน์ มันไม่อันตรายเพียงแต่คุณต้องทำอย่างถูกต้อง

บีบีซีรายงานว่าเมื่อปี 2012 นายจอห์น โวลันเธน และนายริชาร์ด สแตนตัน ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Royal Humane Society medal จากพระราชวังบักกิงแฮมจากภารกิจช่วยเหลือกู้ภัยที่ประเทศฝรั่งเศสด้วย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษรายที่ 3 ที่มีชื่อว่าโรเบิร์ต ฮาร์เปอร์นั้น ร่วมในภารกิจกู้ภัยในถ้ำหลายครั้งตั้งแต่ปี 1968

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับทีมกู้ภัยชาวอังกฤษนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อ27มิ.ย.2561 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่าได้สนับสนุนบัตรโดยสารพร้อมขนส่งอุปกรณ์สำหรับการกู้ภัยแก่ผู้ชำนาญการดำน้ำในถ้ำจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในการให้ความช่วยเหลือนักกีฬาฟุตบอลเยาวชนพร้อมโค้ช จำนวน 13 ราย ที่ติดค้างอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีนายกุศล ศรีตุลานุกต์ ผู้จัดการการบริการสนามบินลอนดอน อำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยออกเดินทางจากกรุงลอนดอน ด้วยเที่ยวบินที่ ทีจี 917 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน เวลา 21.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) และเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2561 และเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่อที่แม่สาย จ.เชียงราย

 

ที่มา:มติชนออนไลน์