ผู้ค้าย่านข้าวสารโวย “กทม.” จัดระเบียบไม่ถาม นัดชุมนุมลานคนเมือง

ปัญหาการจัดระเบียบผู้ค้าแผงลอยดูจะไม่จบสิ้น เพราะล่าสุดที่ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศจัดระเบียบผู้ค้าแผงลอยบริเวณถนนข้าวสาร เริ่มดีเดย์ 1 สิงหาคม 2561 อาจไม่ราบรื่นง่ายๆ

เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่หอประชุมโรงเรียนวัดชนะสงคราม ชมรมผู้ค้าแผงลอยเสรีถนนข้าวสาร นำโดย น.ส.ญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมฯ จัดประชุมผู้ค้าบริเวณถนนข้าวสารทั้งทางด้านในและนอกอาคาร กรณีได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบผู้ค้าแผงลอยของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งประกาศ 1 สิงหาคม 2561 จัดระเบียบแผงค้าบริเวณถนนข้าวสารและตรอกซอยที่เชื่อมต่อกัน อาทิ บริเวณถนนรามบุตรี ถนนตะนาว เป็นต้น โดยมีผู้ค้าและเจ้าของอาคารพร้อมใจสวมเสื้อสีเหลืองร่วมประชุมกว่า 300 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจและพนักงานสืบสวนสวบสอนสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ชนะสงครามร่วมสังเกตการณ์

น.ส.ญาดา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ค้าต่อนโยบายจัดระเบียบแผงค้าของกทม. ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางสำนักงานเขตพระนครได้เชิญผู้ค้าไปร่วมประชุมที่สำนักงานเขตฯ โดยแจ้งว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็น แต่เมื่อผู้ค้าซักถาม พร้อมเสนอความคิดเห็นมากมายต่อกทม. กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน อาทิ พื้นที่ถนนข้าวสาร มักเกิดปัญหาน้ำท่วมบนผิวจราจรเป็นประจำ หากย้ายแบ่งล็อคให้ผู้ค้าลงมาค้าขายบนผิวถนนทางเขตได้แก้ปัญหาแล้วหรือไม่ หากเกิดปัญหาไฟฟ้าช็อตผู้ค้าจะทำอย่างไร ฯลฯ

โดย กทม.แจ้งว่า ผู้ค้าสามารถตั้งแผงค้าขายของระหว่างเวลา 18.00-22.00 น. โดยไม่รับฟังความคิดเห็นจากผู้ค้าเลย ซึ่งการจัดประชุมดังกล่าว เพียงแค่แจ้งให้ผู้ค้าเข้าไปรับทราบ แต่ไม่ได้รับฟังความคิดเห็น กลุ่มผู้ค้าจึงวอล์กเอ้าท์จากการประชุม ก่อนหน้านี้ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือยังศาลาว่าการกทม. เพื่อพบ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯกทม. แต่กลับไม่ได้เข้าพบ ซึ่งได้รับแจ้งเพียงว่าจะส่งตัวแทนเจ้าหน้าที่มาร่วมพูดคุยในเวลา 14.30 น. แต่เมื่อถึงเวลาผู้แทนของกทม.ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุม มีเพียงเจ้าหน้าที่เทศกิจ ดังนั้น ทางชมรมและกลุ่มผู้ค้าจะรวมตัวไปยังศาลาว่าการ กทม. เพื่อขอพบ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ในวันที่ 31 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 09.00 น.

ด้าน น.ส.ญาดา โรจน์กิรติการ อายุ 45 ปี ผู้ค้าแผงลอยขายเสื้อผ้าอยู่ถนนข้าวสาร บอกว่า ปัจจุบันมีผู้ค้าแผงลอยบริเวณถนนข้าวสารประมาณ 300 กว่าราย แบ่งการค้าขายออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้าเวลา 06.00-16.00 น.และช่วงเย็นเวลา 17.00-01.00 น. โดยทางกทม.แจ้งต่อผู้ค้าว่าตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมจะให้ผู้ค้าแผงลอยลงมาค้าขายตามล็อคที่ทางกทม.แบ่งให้ล็อคละเท่าๆ กันบนผิวจราจร ซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 กว่าล็อค ขณะเดียวกันกทม.จะยกเลิกแผงลอยทั้งหมดบริเวณถนนรามบุตรี ประมาณ 100 กว่าแผงค้า

จากนั้นจะให้ผู้ค้าทั้งหมดรวม 400 แผงค้ามาร่วมจับฉลากเลือกแผงค้าในวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งแนวทางดังกล่าวทำได้อย่างไร โดยไม่รับฟังความเห็นผู้ค้า เพราะผู้ค้าจะได้รับผลกระทบ ทั้งจำนวนล็อคที่จัดให้ไม่เพียงพอ กทม.ยังไม่ได้ระเบียบผิวจราจร อาทิ การหาแนวทางป้องกันน้ำท่วมบนผิวจราจร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มแผงลอยไม่ได้จ่ายค่าเช่าแผงค้า แต่มีข้อตกลงร่วมกันในพื้นที่ ซึ่งจะมีเงื่อนไขระหว่างกลุ่มผู้ค้าย่านถนนข้าวสาร แต่จะจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่เทศกิจเพื่อเข้ามาช่วยดูแลพื้นที่ 500 บาทต่อเดือน

นางรำเพย เกตุศรี อายุ 58 ปี เปิดรถเข็นขายเครปญี่ปุ่น กล่าวว่า บริเวณดังกล่าวมีผู้ค้ารถเข็นประมาณ 5-6 ราย ส่วนใหญ่ค้าขายกันมาตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ตนเริ่มขายเครปญี่ปุ่นเมื่อปี 2543 ซึ่งไม่เห็นด้วยต่อการจัดระเบียบครั้งนี้ เพราะตนเป็นรถเข็นไม่ใช่แผงลอย และการค้าขายดังกล่าวมองว่าไม่ได้กระทบต่อใคร ทั้งนี้ ปัจจุบันมีรายได้จากการขายเครปวันละ 700-800 รายและสูงสุดวันละ 1,200 บาท โดยรายได้จะใช้จ่ายเป็นค่าผ่อนบ้านและใช้จ่ายชีวิตประจำวัน

นายธนพงษ์ มานิจธรรมพงษ์ เจ้าของอาคารเปิดร้านขายเสื้อผ้าบนถนนข้าวสาร และฐานะตัวแทนเจ้าของอาคารและผู้ประกอบการ กล่าวว่า การจัดระเบียบไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วย แต่ประเด็นหลักคือ กทม.จัดระเบียบพื้นที่โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม โดยตนและภรรยาเกิดและอาศัยอยู่ในพื้นที่ถนนข้าวสารเป็นเวลา 40 กว่าปี โดยชุมชนย่านนี้ร่วมกันสร้างถนนข้าวสารขึ้น สมัยก่อนชาวบ้านเรียกถนนเส้นนี้ว่าเป็นถนนขี้หมา ซึ่งบริเวณนี้ไม่เคยมีใครมาสนใจหรือเหลียวแลแม้แต่น้อย กระทั่งผู้ค้ารวมใจกันสร้างร้านค้า จัดตั้งแผงค้าจนกลายมาเป็นถนนข้าวสารที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันนี้ ที่ผ่านมา ทุกกิจกรรมหรืออีเว้นท์ที่จัดขึ้น โดยผู้ค้า ผู้ประกอบการกับเอกชนได้ร่วมกันจัดขึ้นเอง อาทิ เทศกาลสงกรานต์ถนนข้าวสาร เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ โดยมีสื่อมวลชนคอยสนับสนุนและให้ความสนใจเรื่อยมา ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุน

“แต่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง จะทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่เคยจัดให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม มีแต่การพูดคุยกันเองในหน่วยงานแล้วออกแผนจัดระเบียบขึ้นมา ซึ่งทราบกันดีว่าย่านถนนข้าวสารมีปัญหามาก แต่ไม่มีกลับเข้ามาสนใจช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ของเรา ทุกครั้งการจัดระเบียบจึงไม่สำเร็จ แม้แต่การจะจัดระเบียบให้ถนนข้าวสารเป็นสตรีทฟู้ดก็ตาม เพราะผู้บริหารกทม.ไม่เคยสนใจคนในชุมชน ส่วนแผนการจัดระเบียบกทม.ประกาศดีเดย์ 1 สิงหาคม กลุ่มผู้ค้าไม่เคยทราบมาก่อน เพิ่งจะมารับทราบเพียงไม่กี่วันนี้ ทุกคนก็งง ไม่รู้จะปรับตัวยังไง ผมเป็นเจ้าของอาคารและมีพื้นที่หน้าอาคาร แทนที่จะใช้พื้นที่ส่วนของตนกลับไม่ใช่ กลายเป็นใครก็ไม่รู้มาอยู่หน้าอาคารของผม แต่เป็นพื้นที่ถนน ส่วนพื้นที่ถนนถามว่าตำรวจจะจับหรือไม่เพราะลงมาขายบนทางเท้า เจ้าหน้าที่เขตแจ้งว่าให้ไปเคลียร์กับตำรวจเอง แล้วเป็นภารกิจของผู้ค้าหรืออย่างไร” นายธนพงษ์ กล่าว

ด้าน นายกษิดิ์เดช สุขสว่าง หัวหน้างานกิจการพิเศษ ฝ่ายเทศกิจเขตพระนคร กล่าวต่อที่ประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นของกลุ่มผู้ค้า ซึ่งทางเขตจะมาร่วมรับฟังความคิดเห็น ก่อนจะรวบรวมข้อมูลรายงานต่อผู้บริหารของกทม. เพื่อนำคำตอบที่ชัดเจนมาแจ้งต่อผู้ค้าต่อไป ส่วนข้อกังวลเรื่องผิวจราจร ทางเขตได้จัดหนังสือไปยังตำรวจจราจรเพื่อประสานให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล

 

ที่มา : มติชนออนไลน์