ปลดล็อกเฟส 2 กรมอนามัย เคร่ง 5 มาตรการหลัก

วันที่ 16 พฤษภาคม 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเตรียมผ่อนปรนกิจกรรมระยะที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ (17 พ.ค.) เพิ่มเติมในส่วนของร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ร้านเสริมสวยที่อนุญาตให้เปิดบริการจะต้องยึด 5 มาตรการหลัก ได้แก่  

1.การทำความสะอาดพื้นที่ให้บริการทั้งหมด สถานที่ต้องเปิดระบบระบายอากาศ 

2.ผู้ให้และผู้รับบริการต้องสวมหน้ากาก ต้องสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย และถ้าเป็นส่วนที่ต้องพบคนจำนวนมากอย่าง แคชเชียร์ พนักงานขาย ให้สวมเฟซชิลล์เป็นอุปกรณ์เสริมด้วย

3.บริการจุดล้างมือ มีอ่างล้างมือ หรือเจลแอลกอฮอล์ที่เพียงพอ

4.การเว้นระยะห่าง 

5.การควบคุมจำนวนคน กำหนดพื้นที่ให้บริการ ลดจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่กิจการ 

อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนกิจกรรมระยะที่ 2 นี้ จะต้องงดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ทำให้เกิดการรวมตัว และต้องปิดในเวลา 20.00 น. 

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า ในส่วนของห้างสรรพสินค้า จะต้องทำความสะอาดและกำหนดจุดสัมผัสร่วมโดยเพิ่มรอบการทำความสะอาดทุกชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอ เช่น ลิฟท์บันไดเลื่อน แคชเชียร์ เป็นต้น รวมถึงการคัดกรองพนักงานทุกคนก่อนเข้าปฏิบัติงานทุกวัน ใครมีความเสี่ยงต้องหยุดงานทันที และผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นแต่ตอนรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย 

ทั้งนี้หลายสถานประกอบการจะมีระบบแอพพลิเคชั่น แต่ถ้าไม่มีควรมีระบบนัดหมายล่วงหน้า เพื่อลดจำนวนคน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สุ่มตรวจผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด การจัดการน้ำ ขยะการถ่ายเทของอากาศ และร้านอาหาร ขอให้เตรียมความพร้อม ซึ่งจากการสำรวจกิจกรรมที่มีการผ่อนปรนระยะที่ 1 เช่น ตลาด ร้านอาหารแผงลอย ซุปเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ค นั้น พบว่ามีข้อระวังที่ต้องเน้นย้ำเพิ่มคือ การควบคุมจำนวนคนต่อพื้นที่ กำหนดระยะเวลาใช้บริการ ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ส่วนสวนสาธารณะ สนามกีฬา ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านตัดขนสัตว์นั้นก็ได้รับความร่วมมือดีมาก แต่ยังต้องเน้นย้ำจุดที่มีการบริการห้องสุขาต้องเพิ่มรอบการทำความสะอาด และการจัดการขยะให้ดี ปลอดภัย

ด้านนพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเปิดสถานที่และกิจกรรมเพิ่มเติมนั้น จะให้เรากลับมาใช้วิถีชีวิตแบบเดิม และเศรษฐกิจเดินหน้าได้ระดับหนึ่ง สิ่งสำคัญของการเปิดเมืองโดยที่จะไม่มีความเสี่ยงกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง มีมาตรการอยู่หลักๆ 3 มาตรการ ได้แก่

1.มาตรการทางสาธารณสุข การป้องกันจะต้องมีความเข้มข้นในกลุ่มผู้สูงอายุ และคนที่อยู่ในสถานที่แออัด การค้นหาผู้ป่วยในขณะที่มีจำนวนผู้ป่วยน้อยได้ทำการค้นหา 2 แบบ คือ ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก โดยการนำข้อมูลทางระบาดวิทยาเดิมมาตรวจดูว่าสถานที่ใดเจอผู้ป่วยบ่อย ก็จะลงไปดำเนินการตรวจเพิ่มเติมในสถานที่นั้นๆ และการจัดระบบเฝ้าระวังให้ได้มาตรฐาน ดำเนินการทั้งในกลุ่มประชากรเฉพาะที่ทำมาอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยปอดอักเสบ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ รวมถึง ผู้ป่วยด้วยโรคหวัดเป็นกลุ่มก้อน ให้รายงานเหตุการณ์ที่มีการระบาดของโรคหวัดเป็นกลุ่มก้อน เพื่อตรวจค้นไวรัสโคโรนา และการเฝ้าระวังอื่นๆ เช่น สัดส่วนผู้ป่วยโรคไข้หวัดในกลุ่มผู้ป่วยนอก จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ และจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตในภาพรวมทุกสาเหตุ เพื่อพิจารณาว่ามีจำนวนที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ 

“เนื่องจากขณะนี้เริ่มมีรายงานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมว่าคนไข้โควิด-19 อาจจะมีอาการบางลักษณะที่แตกต่างออกไป เช่น อาการทางสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด จึงต้องมีการดูผู้เสียชีวิตในภาพรวมด้วยว่าเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง” 

2.มาตรการระดับบุคคล กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น เช่น ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

3.มาตรการระดับองค์กร การทำงานที่บ้านให้มากที่สุด เหลื่อมเวลาการทำงาน ลดความแออัดของสำนักงาน โรงงาน คัดกรองพนักงาน นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เช่น การประชุมทางไกล เป็นต้น