ชาวเพชรบุรี ยกของขึ้นที่สูง! คาดมวลน้ำเข้าตัวเมือง สามทุ่ม

น้ำท่วมเพชรบุรี

กอนช. ย้ำทุกหน่วยพร้อมรับมือมวลน้ำคาดถึงตัวเมืองเพชรบุรีคืนนี้ จังหวัดประสานหน่วยเกี่ยวข้องเร่งระดมเครื่องสูบน้ำ พร้อมผันน้ำเข้าระบบคลองชลประทาน ก่อนไหลผ่านเขื่อนเพชรลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี เร่งรื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำก่อนมวลน้ำเดินทางถึงตัวเมืองเพชรบุรี 3 ทุ่มคืนนี้

jวันที่ 11 ตุลาคม 2563 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนที่ตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ส่งผลให้บริเวณเหนือเขื่อนเพชร และบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น

ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีได้สั่งการให้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำจากการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟในบริเวณตัวอำเภอเมือง เพื่อช่วยไม่ให้น้ำเอ่อล้นสูงกว่าปกติเข้าท่วมตัวเมืองเพชรบุรี รวมถึงมอบให้แขวงทางหลวงเพชรบุรีจัดเจ้าหน้าที่ประจำตามจุดที่มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ผิวจราจร สำรวจและกำจัดวัชพืชที่ขวางกั้นทางน้ำ

รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนตลอดริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีตั้งแต่ท้ายเขื่อนเพชรจนถึงอำเภอเมืองให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมในคืนนี้แล้วเช่นกัน

น้ำท่วมเพชรบุรี

สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วนั้น ขณะนี้กรมชลประทาน ได้เพิ่มการระบายน้ำเข้าระบบคลองชลประทานประมาณ 106 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้นจึงทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชร เพื่อให้มีปริมาณน้ำไหลลงแม่น้ำเพชรบุรีให้น้อยที่สุด ส่งผลให้ปัจจุบันสถานการณ์น้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเพชรมีแนวโน้มดีขึ้น

“จากนั้นเมื่อเวลา 6 โมงเช้าที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 216 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ล่าสุดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเพชร (เมื่อเวลา 12.00 น.) ลดลงเหลือ 209 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งคาดว่ามวลน้ำก้อนนี้จะถึง อ.เมืองเพชรบุรีประมาณ 3 ทุ่ม (21.00น.) คืนนี้”

และมีปริมาณน้ำที่จะล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำในตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร ทั้งนี้ คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านลาด
อ.เมืองเพชรบุรี และอ.บ้านแหลม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันแนวโน้มปริมาณน้ำที่จะยังควบคุมได้ แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ฝนจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นที่จะมีอิทธิพลกับไทยในช่วงวันที่ 11 – 16 ตุลาคมนี้อย่างใกล้ชิดด้วย

ส่วนความพร้อมการรองรับน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางพบว่าสามารถรองรับปริมาณฝนได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณความจุเก็บกัก 47 % และเขื่อนปราณบุรี 43% มีการพิจารณาการระบายน้ำอ่างฯที่มีปริมาณน้ำมากให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย

เช่น กรณีอ่างห้วยแม่ประจันต์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 99% ของความจุ