โควิดคลองเตย มาดามเดียร์ เตือนแล้วนะ เสี่ยง คลัสเตอร์ใหญ่สุด กทม.

มาดามเดียร์พูดคลัสเตอร์คลองเตย
ภาพจากเฟซบุ๊ก เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี

“มาดามเดียร์” แนะ 4 วิธีรับมือโควิดคลองเตย เผยเคยเตือนก่อนหน้านี้ หวั่นเป็นคลัสเตอร์ใหญ่สุดกลางกรุงเทพมหานคร

วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การติดเชื้อประจำวัน ระบุว่า ในการระบาด ระลอกเมษายน 2564 พบว่ามีผู้ติดเชื้อในชุมชนคลองเตย รวม 304 ราย แบ่งเป็นกลุ่มอาศัยในชุมชนแออัด 193 ราย และกลุ่มอาศัยตามแหล่งอื่น ๆ เช่น คอนโด หอพัก อีกจำนวน 111 ราย

โดยผู้ติดเชื้อรายแรกที่พบในแหล่งชุมชนแออัดใน “เขตคลองเตย” เป็นพนักงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และที่น่ากังวลสำหรับชุมชุนคลองเตย เนื่องจากมามีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น ที่พักอาศัยมีทั้งที่พักเป็นอาคารที่พักหลายชั้น เป็นบ้านที่ติด ๆ กัน มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน การระบายอากาศไม่ดีนัก โดยพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นประกอบด้วย ชุมชน 70 ไร่ ชุมชนล็อค 4,5 และ 6 และชุมชนล็อคที่ 1,2,3/ชุมชนร่มใจไพรินแดง

ต่อมา น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ มาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กเตือนเรื่อง “โควิดคลองเตย” ถ้ากทม.ไม่เร่ง นี่จะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุดกลางกรุงเทพมหานคร เนื้อหาดังนี้

จากที่เดียร์เคยได้โพสต์ไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 เมษายน ว่าภาครัฐควรแยกระบบจัดการชุมชนแออัดเป็นกรณีแยกพิเศษจากเคสผู้ป่วยโควิดทั่วไป เพราะคนในชุมชนแออัดมีข้อจำกัดที่แตกต่างจากผู้ป่วยอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ สภาพที่อยู่อาศัยในชุมชมที่เป็นพื้นที่คับแคบ ไม่มีพื้นที่แยกเป็นสัดส่วนในการกักตัวระหว่างผู้ป่วยและคนที่มีความเสี่ยง คนในชุมชนอยู่ร่วมกันในพื้นที่จำกัดเป็นจำนวนมาก หากเกิดการแพร่ของเชื้อโควิด ก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในทันที

Advertisment

กระทั่งวันนี้สิ่งที่เดียร์กลัวจะเกิดขึ้น ถ้าหากไม่มีการบริหารงานเชิงรุกที่ถูกต้อง ก็กลายเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิดคลัสเตอร์คลองเตย ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการจากที่มีการเรียกร้องไปแล้วคือ

  1. การเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก 100% (หยุดบริหารตัวเลขผู้ป่วย) ในชุมชนที่เหลือ เพราะตอนนี้ต้องถือว่าคนในชุมชนทั้งหมดคือผู้มีความเสี่ยง แล้วทำการเร่งคัดแยกผู้ป่วยและคนที่มีความเสี่ยงสูง (ผู้สัมผัสใกล้ชิด) ออกจากพื้นที่โดยด่วน
  2. ระดมเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ให้ความรู้กับประชาชนที่เหลือในการดูแลตนเองที่ถูกต้อง รวมถึงกรณีหากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มจะต้องเร่งดำเนินการอย่างไรต่อ
  3. ออกมาตรการควบคุมผู้อาศัยในชุมชนคลองเตย เพื่องดการเดินทางไปมา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปกลุ่มภายนอก
  4. การเร่งให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งเยียวยาคนในชุมชน กรณีหากมีการออกมาตรการควบคุม (lock down) คนในชุมชน เพราะคนในชุมชนเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ต้องการความช่วยเหลือ

ชุมชนคลองเตยเป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของภาครัฐที่ต้องแยกการจัดการชุมชนแออัดเป็นกรณีพิเศษ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่อย่าลืมว่าในกรุงเทพเรามีชุมชนแออัดกระจายตัวอยู่ในทั่วทุก 50 เขตของ กทม. ที่ตอนนี้ก็กำลังตกอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างจากกรณีของชุมชนคลองเตย

Advertisment

ทั้งนี้ เดียร์ขอส่งกำลังใจไปให้ผู้รับผิดชอบ บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงให้เข้มแข็งเพื่อที่เราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันค่ะ

“โควิดคลองเตย” ถ้ากทม.ไม่เร่ง นี่จะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุดกลางกรุงเทพมหานคร…

โพสต์โดย เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี เมื่อ วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2021