ไทยรู้สู้โควิด ชวนใช้รูปโปรไฟล์ “วัคซีนที่ดีที่สุด” อ.เจษฎ์ ท้วง

วัคซีนที่ดีที่สุด

นักวิชาการท้วง เพจไทยรู้สู้โควิด ใช้กรอบโปรไฟล์มีคำว่า “วัคซีนที่ดีที่สุด” ใส่รูป “หมอทวีศิลป์” วัดความดัน 

วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจไทยรู้สู้โควิด ซึ่งเป็นเพจเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เชิญชวนให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ ที่มีกรอบข้อความว่า “ฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และ “วัคซีนที่ดีที่สุด คือ วัคซีนที่เข้าร่างกายได้เร็วที่สุด #กรมควบคุมโรค”

โพสต์ของเพจไทยรู้สู้โควิดดังกล่าว ได้นำภาพของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) มาใช้เป็นตัวอย่าง อีกทั้งยังแปะลิงก์ลิงก์ไว้ให้สำหรับผู้ที่สนใจเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นกรอบข้อความดังกล่าว

วันเดียวกัน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แชร์โพสต์ของเพจไทยรู้สู้โควิด พร้อมอ้างหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 ของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวง ให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่งมีหนึ่งในข้อกำหนดเกี่ยวกับ คำที่ห้ามนำมาใช้ในการโฆษณา คือ “ดีที่สุด”

อาจารย์เจษฎ์ชี้แจงว่า ตนไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เพจไทยรู้สู้โควิดทำนั้นผิดกฎหมาย แต่อยากอธิบายให้เห็นว่า ขนาดอาหารยังต้องเข้มงวดในการเลือกใช้คำเพื่อโฆษณา เพราะฉะนั้น “ยาและวัคซีน” ยิ่งต้องเข้มงวดมากกว่า พร้อมเสนอว่า หาก ศบค. ใช้สโลแกนว่า “กันป่วยหนัก กันตาย วัคซีนอะไรหาได้ไว ก็ฉีดไปก่อน” อาจจะเข้าใจได้ง่ายกว่า

 

ขณะที่ในช่องคอมเมนต์ใต้โพสต์ของเพจไทยรู้สู้โควิด นักวิชาการคนดังยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ทำไมจึงใช้รูปตอนหมอทวีศิลป์วัดความดัน ไม่ใช้รูปตอนฉีดวัคซีน พร้อมปิดท้ายสั้น ๆ ว่า “แปลกดี” ต่อมามีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้ากดแสดงความรู้สึกตลก เกือบ 900 ครั้ง ภายในเวลา 1 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้แสดงความสงสัยว่าหมอทวีศิลป์อาจจะยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ ทางเพจฯ จึงไม่ได้นำรูปมาโพสต์ อาจารย์เจษฎาเลยนำรูปขณะหมอทวีศิลป์ได้รับการฉีดวัคซีน มาแปะเพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันว่าหมอทวีศิลป์ฉีดวัคซีนซิโนแวกแล้วจริง ๆ