รู้จัก ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

รู้จักธนกรศรีสุขใส
ภาพจากเฟซบุ๊ก ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เรื่องราวของ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ถูกพูดถึงในช่วง 2 วันมานี้ และทำให้คนทั่วไปอยากทำความรู้จัก “ธนกร ศรีสุขใส” ผู้จัดการกองทุนฯ มากขึ้น

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 กรณี สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สนับสนุนเงิน 4.8 ล้านบาท ให้รายการ “ลายกนก ยกสยามสัญจร” ช่อง ท็อปนิวส์ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งต่อมา นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสรรค์ ชี้แจงว่า รายการดังกล่าวมีความน่าสนใจ สอดแทรกเกร็ดความรู้ประเด็นประวัติศาสตร์ มีฐานผู้ชมจำนวนมาก ยืนยันไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ นายธนกร ศรีสุขใส ให้ผู้อ่านได้เห็นเส้นทางการทำงานของอดีตคนข่าว ที่ปัจจุบันนั่งเก้าอี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสรรค์ ดังนี้

ประวัติการศึกษา

  • นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
  • ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์การเมือง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สื่อสารมวลชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประสบการณ์

  • ผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
  • อนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่และเยียวยาคลื่นความถี่ 700 MHz สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
  • อนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
  • อนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบกิจการด้านการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
  • อนุกรรมการกำหนดลักษณะและประเภทของการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
  • คณะทำงานติดตามและประมวลคุณภาพการรับฟังความคิดเห็นประชาชน คำสั่งคณะอนุกรรมการจัดทำการรับฟังความเห็นของประชาชน ที่ 5/2556 ลว. 7 พ.ย. 2556 (ลงนามโดยรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี)
  • ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี (TITV) ก่อนเปลี่ยนผ่านเป็น Thai PBS สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  • ผู้บริหารและผู้ดำเนินรายการกลุ่มบริษัท สำนักข่าว INN
  • หัวหน้าคณะทำงานโครงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย

ลดสื่อร้าย ขยายสื่อดี

เมื่อเดือนมีนาคม 2564 นายธนกรได้ให้สัมภาษณ์กับ greenlifeplusmag ว่า ตนเป็นเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ คนที่ 2  หลังกองทุนเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2559 แล้ว ต่อมาในปี 2560 เป็นปีแรกที่เริ่มดำเนินการจัดสรรทุน และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“ช่วงแรกที่ผมเข้ามา กองทุนยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ปลายปีที่แล้ว เราก็ใช้โอกาสในช่วงของการเปิดรับทุนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนทราบว่า เรามีกองทุนอยู่นะ และกองทุนก็ต้องการเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิเสนอโครงการอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งผลปรากฏว่าการเปิดรับทุนปีที่แล้วมีผู้เสนอโครงการเป็นจำนวนมากถึง 1,460 โครงการ มูลค่าสูงถึง 5,000 ล้าน ขณะที่ปีนี้ มีผู้เสนอขอทุนเข้ามาจำนวน 1,342 โครงการ มูลค่ากว่า 6,200 ล้าน ทั้งที่กองทุนมีเงินอยู่เพียง 300 ล้านบาทเท่านั้น” นายธนกรกล่าวและถึงสภาพการณ์สื่อว่า

สื่อโดยทั่วไปไม่ได้ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างที่ควรจะเป็น ภาพรวมของสื่อโดยทั่วไปมุ่งสร้างความนิยมของผู้เปิดรับ ทั้งผู้ชม ผู้ฟัง ผู้อ่าน หรือผู้เสพ คุณภาพของเนื้อหาและความรับผิดชอบต่อผลกระทบของเนื้อหาเป็นสิ่งที่มาทีหลัง ขณะที่สื่อดี ๆ สื่อสร้างสรรค์ สื่อเพื่อประโยชน์ของสังคมมีน้อย เป้าหมายพื้นฐานของกองทุนสื่อคือ ลดทอนสื่อร้าย ขยายสื่อดี

ซึ่งการลดทอนสื่อร้ายเป็นเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ เริ่มต้นจากประชาชนทุกคนในฐานะผู้รับสื่อ ที่จะต้องมีสติ รู้เท่าทัน กองทุนมีโครงการในการสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ทำหน้าที่เฝ้าระวังสื่อที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ไม่ปลอดภัยทั้งหลาย

ส่วนคำว่าขยายสื่อดี หมายรวมถึงทั้งการทำให้เพิ่มขึ้นและการสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งกองทุนวางกรอบไว้อย่างเป็นระบบว่าการจะทำให้เกิดสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์นั้น จะให้เงินอย่างเดียวคงไม่ไม่พอ จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรผู้ผลิตสื่อด้วย ต้องสนับสนุนองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งยังต้องมีกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้วย

ซึ่งกองทุนได้ดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ใน 2 แนวทางด้วยกัน คือ การดำเนินการในรูปแบบของการจัดสรรทุนประจำปี และการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการตามยุทธศาสตร์ 4 ด้านของกองทุนที่สำนักงานดำเนินการเอง

งบหนังสั้น 20 ล้าน

ไม่กี่เดือนหลังเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการกองทุนฯ นายธนกร ถูกภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อกองทุนฯ ให้ตรวจสอบกระบวนการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เนื่องจากมีข้อเคลือบแคลงหลายประการต่อ 95 โครงการที่ได้รับการอนุมัติ งบประมาณรวม 284,966,950 บาท ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ขณะนั้น นายธนกร ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าวอิศรา กรณีถูกมองว่ากองทุนฯสนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ซึ่งนายธนกรตอบว่า เรื่องเจตนารมณ์ขึ้นอยู่กับการตีความ ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้มีสื่อสร้างสรรค์ แล้วคนผลิตไม่ได้อยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทีนี้ ถ้าดูเจตนารมณ์ ก็ต้องย้อนกลับไปดู พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือกฎหมาย กสทช. ฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ. 2560 ไปดูในมาตรา 52 วงเล็บ 5 เรื่องของการให้มีการตั้งกองทุน เรื่องของการที่จะให้สนับสนุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

“อย่าเข้าใจผิดคิดว่าการทำสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้องเอาไปให้ภาคประชาชน ประเด็นนี้ ผมในฐานะผู้จัดการเห็นต่างเลย เนื่องจากการที่ให้ทุนในการผลิตรายการ เพื่อไม่ให้เขาไปผลิตเองแล้วต้องไปขึ้นอยู่กับตลาดหรือระบบโฆษณา เพราะฉะนั้น เวลาช่องมาขอทุน ช่องก็มีสิทธิ์ แม้ว่าช่องจะอยู่ในระบบตลาดหรือระบบธุรกิจ” นายธนกรกล่าวและยืนยันว่า กองทุนให้บุคคลธรรมดาด้วย เพราะต้องการให้บุคคลธรรมดา ให้คนเล็กคนน้อยได้ทุน

นายธนกรยังตอบเรื่องข้อสังเกตที่บางโครงการได้งบทำหนังสั้น 20 ล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามากเกินไปหรือไม่หรือไม่?

“น้อยไปครับ ปีหน้าผมจะตั้งโครงการเดียว อาจจะ 50 ล้านหรือ ร้อยล้านบาท แล้วจะใช้วิธีคัดเลือกแบบบิวตี้คอนเทสต์ ประกวดนางสาวไทย ซึ่งถ้าสังคมหรือกรรมการคิดว่าควรจะแยกสัดส่วนและวงเงินเราก็พร้อมพิจารณา คืองบ 20 ล้านบาทจะเป็นเบี้ยหัวแตก เพราะถึงที่สุดแล้ว ถ้าเป็นยิบย่อย ๆ เราจะไม่เห็นอะไรเลย เราอยากเห็นโครงการใหญ่ ๆ”

คู่แข่ง “พี่ดี้”

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 คณะอนุกรรมการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิแสดงวิสัยทัศน์เพื่อรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

หนึ่งในผู้ที่ได้รับการคัดเลือกคือ นายนิติพงษ์ ห่อนาค หรือ “ดี้” นักแต่งเพลงชื่อดัง นอกจากนี้ยังมีชื่อคนวงการสื่ออีกหลายคน รวมถึง นางสุวรรณา บุญกล่ำ, นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์  และนายธนกร ศรีสุขใส

โดยผู้ที่มีรายชื่อดังกล่าวไปแสดงตนและวิสัยทัศน์ในวันพฤหัสบดีที่ 7 พ.ค. 2563 ณ ห้องประชุม ชั้น 8 กระทรวงวัฒนธรรม (ถ.เทียมร่วมมิตร)

ภาพจากเฟซบุ๊ก Nitipong Honark

มูลนิธิพุทธสิน

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิพุทธสิน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 8 ข้อ ดังนี้

  1. เผยแพร่พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ให้ประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เข้าถึงแก่นแท้ของหลักธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และน้อมนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง
  2. เผยแพร่พระเกียรติยศ พระเกียรติภูมิ และพระวีรกรรมในด้านต่าง ๆ ขององค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้เยาวชน คนรุ่นหลัง ได้ศึกษา เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการเสียสละเพื่อประเทศชาติและส่วนรวม
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาค้นคว้า การวิจัย การจัดกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การรู้เท่าทันสื่อ สื่อสร้างสรรค์ การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต
  4. ผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้วัตถุประสงค์ของมูลนิธิทั้งในรูปแบบของวีดีทัศน์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ รวมตลอดถึงสื่อออนไลน์
  5. สนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศล กิจกรรมสาธารณประโยชน์ การเกื้อกูลสังคม การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวมตลอดถึงการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  6. ส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมของผู้สูงอายุ การพัฒนาการแพทย์แผนไทและการแพทย์ทางเลือก จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ผู้สูงอายุ และ/หรือ ศูนย์การแพทย์แผนไทยขึ้นเป็นหน่วยงานภายในของมูลนิธิ
  7. เพื่อดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์การการกุศล เพื่อการกุศลและองค์การสาธารณประโยชน์ เพื่อสาธารณประโยชน์
  8. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

โดยปรากฏชื่อ นายธนกร ศรีสุขใส เป็นหนึ่งในห้าคณะกรรมการดำเนินงาน โดยนายธนกรมีตำแหน่งเป็น ประธานกรรมการ