‘สมุทรสาครโมเดล’ พึ่งตนเอง-เผื่อแผ่สังคม

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

กฤษณา ไพฑูรย์

 

ปัจจุบัน “โรงงานอุตสาหกรรม” ได้กลายเป็นหนึ่งในอีกสาเหตุหลักของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในหลายจังหวัด จากพนักงานภายในโรงงานได้กระจายวงกว้างเข้าไปสู่ครอบครัว และแหล่งชุมชนเป็นวงรอบที่ 3

โดยเฉพาะการแพร่ระบาดภายในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีพนักงานประจำ ลูกจ้างรายวันกว่า 6,000-7,000 คน สร้างความปวดหัวให้จังหวัด และทุกหน่วยงานด้านสาธารณสุขภายในจังหวัดเป็นอย่างมาก ยิ่งเป็นโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรง และติดง่าย ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายกันอย่างรวดเร็วไปเกือบครึ่ง โรงงาน

ตามหลักการแพทย์ต้องแยกผู้ติดเชื้อออกมาสู่โรงพยาบาลสนาม ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงต้องแยกออกมากักตัวจากกลุ่มเสี่ยงต่ำ แต่ข้อจำกัดที่ทุกจังหวัดเจอคือ โรงงานเกือบทุกแห่งไม่มีการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม และสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงล่วงหน้า แถมบางโรงงานยังแอบไปสุ่มตรวจโรคกันเอง เมื่อพบผู้ติดเชื้อต่างโยนมาให้หน่วยราชการภายในจังหวัดรับผิดชอบ

ร้อนถึงจังหวัด อำเภอ ตำบลที่ตั้งโรงงานต้องเร่งจัดทำโรงพยาบาลสนาม และสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงขึ้นมารองรับ ด้วยงบประมาณมีจำกัด หรือบางแห่งไม่มี ต้องเปิดรับบริจาคกันจ้าละหวั่น

ดังนั้น ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมาจึงเห็นผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดเล่นบทบาท “มือพิฆาต” สั่งปิดโรงงานหลายแห่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ เริ่มด้วยการสั่งปิด 7 วัน ต่ออีก 7 วัน และมากสุดถึง 28 วัน กรณีที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ พร้อมมาตรการ bubble and seal ในโรงงานที่พอจะควบคุมการแพร่โรคได้ ให้เปิดดำเนินการได้ แต่ต้องมีระบบควบคุมทางด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และแยกกักกันพนักงานกลุ่มเสี่ยงชัดเจน

แต่ที่ฮือฮาสุดคงเป็นสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทย “ร้อนฉ่า” ! นั่งกันไม่ติด เมื่อ “วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้ออกประกาศคำสั่งจังหวัดบังคับให้โรงงานหรือสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือมีกำลังเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไปต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกกักผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในโรงงาน (Factory Accommodation Isolation : FAI) โดยจะต้องมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานทั้งบริษัทภายใน 7 วัน หากใครทำไม่ได้ “สั่งปิดทันที” หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นระดับเกินกว่า 1,000 คน ตลอดช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ที่สำคัญคือผู้ว่าราชการจังหวัด และสาธารณสุขอีกหลายจังหวัดเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวและเริ่มเดินรอยตามจังหวัดสมุทรสาคร เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายจังหวัดที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์จากโรงงานอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน

“อภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์” ผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครืออนุสรณ์กรุ๊ป ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครที่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะสมุทรสาครกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ระบาดวันละกว่า 1,000 คน จนทำให้หมอ บุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยล้า ยากเกินจะรับมือหากทุกฝ่ายไม่ช่วยกัน

อภิสิทธิ์อธิบายว่า แนวคิดการทำ FAI 10% จะช่วยระบบสาธารณสุขได้ จากโรงงานทั้งหมดกว่า 6,000 แห่ง สมมุติทำ FAI 10% เราจะได้เตียงเพิ่มขึ้นมา 60,000 เตียง ให้พนักงานติดเชื้อสีเขียวที่ไม่มีอาการดูแลกันเอง โดยแต่ละโรงงานรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของพนักงานกันเอง ตรงนี้จะลดภาระจากโรงพยาบาลไปได้มาก

ส่วนโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอยก็ให้ไปไว้ดูแลภาคประชาชน คนในชุมชนแทน เท่านี้สมุทรสาครจะปราบโควิดได้สำเร็จ โดยความร่วมมือจากประชาชน ขณะเดียวกันผู้ว่าฯสั่งจัดตั้งศูนย์พักคอยคนสาคร (Community Isolation : CI) ช่วยดูแลคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง ส่วนของภาคอุตสาหกรรมเรามีส่วนร่วมในการปราบโควิดโดยการทำ FAI

มีข้อดีผู้ประกอบการมีส่วนร่วมดูแลการกำจัดโรคโควิดให้เบาบางลง ให้กลับมาเป็นจังหวัดสีเขียวได้เร็วขึ้น ถึงแม้จะไม่มีวัคซีนป้องกันโควิดก็ตาม โดยหลักการที่ต้องทำ FAI ไม่ให้คนงานกลับไปอยู่หอพัก ไปติดคนห้องตรงข้าม ไปเดินซื้อของชุมชน นำโรคไปติดคนอื่น อันนี้จะช่วยได้มาก และจะทำให้คนระวังมากขึ้น นี่คือเหตุและผลที่มา

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้าทุกโรงงานช่วยกันจะถือเป็นการช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง และยังเผื่อแผ่ไปถึงชุมชน สังคมคนรอบข้าง ซึ่งเป็นคนในครอบครัวของพนักงานนั่นเอง