จับตา “ไลออนร็อก” เข้าไทย 11 ต.ค. หลายพื้นที่ระวังฝนตกหนัก

จับตา ไลออนร็อก เข้าไทย 11 ต.ค.-เปิดไทม์ไลน์ก่อนเป็นโซนร้อน
ภาพจากเฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา

จับตาพายุ ไลออนร็อก เข้าไทยวันนี้ (11 ต.ค.) พร้อมเปิดไทม์ไลน์ละเอียด ก่อนทวีความรุนแรงเป็นโซนร้อน แนะวิธีรับมือเบื้องต้น

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากกรณี นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยลักษณะอากาศ ฉบับที่ 7 เรื่อง พายุโซนร้อนไลออนร็อก ระบุว่า พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็น “พายุโซนร้อนไลออนร็อก” แล้ว และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลของพายุไลออนร็อก ก่อนก่อตัวเป็นพายุโซนร้อน พร้อมแนะนำวิธีรับมือเบื้องต้น เพื่อป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนี้

ทีมกรุ๊ป เตือน

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) TEAMG หรือ ทีมกรุ๊ป วิเคราะห์ว่า พายุหมายเลข 17 “ไลออนร็อก” เป็นชื่อที่ฮ่องกงตั้งขึ้น เนื่องจากเป็นพายุที่ขึ้นฝั่งล่าช้ากว่าปกติ จากคาดการณ์เดิม 7-9 ตุลาคม 2564 แต่พายุขึ้นไปทางเหนือ อ้อมไปที่เกาะไหหลำ ก่อนจะมาขึ้นเมืองวินห์ ประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ การรวมตัวกันช้า เมื่อเข้าไทยจึงมีพลังมากพอ เพราะรวมพลังครั้งใหญ่ผ่านทะเลรวบรวมความชื้นมากขึ้น โดยจะเข้าไทยที่ จ.นครพนม และฝนที่นครพนมจะตกหนักตั้งแต่ช่วงวันที่ 11-12 ตุลาคม เช่นเดียวกับที่ จ.บึงกาฬ จ.อุดรธานี แต่ไม่น่าห่วง เพราะสามารถระบายลงแม่น้ำโขงได้เร็ว

สำหรับ “พายุไลออนร็อก” มีโอกาสจะข้ามภูเขามาถึง จ.น่าน ซึ่งอาจทำให้มีฝนตกเหนือเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพล ซึ่งตอนนี้มีน้ำไม่ถึง 40%

ส่วนฝนที่ตกใต้เขื่อน ลำน้ำน่าน มีพื้นที่เพียงพอที่จะรับน้ำได้ นับเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย

เปิดไทม์ไลน์ “ไลออนร็อก” ก่อนเป็นโซนร้อน

ข้อมูลจาก เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเตือนภัยพายุดีเปรสชั่น บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ก่อนทวีความรุนแรงเป็นพายุโซนร้อน ดังนี้

  • 6 ตุลาคม 2564 ฉบับที่ 1 เวลา 15.00 น.

พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 14.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.5 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564

  • 6 ตุลาคม 2564 ฉบับที่ 2 เวลา 19.00 น.

พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 15.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.0 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564

  • 7 ตุลาคม 2564 ฉบับที่ 3 เวลา 04.00 น.

พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 16.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.5 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564

  • 7 ตุลาคม 2564 ฉบับที่ 4 เวลา 10.00 น.

พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เกือบไม่เคลื่อนที่ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564

  • 7 ตุลาคม 2564 ฉบับที่ 5 เวลา 16.00 น.

พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทาง
ทิศเหนือค่อนทางทิศตะวันตกเล็กน้อยอย่างช้า ๆ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564

  • 7 ตุลาคม 2564 ฉบับที่ 6 เวลา 22.00 น.

พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทาง
ทิศเหนือค่อนทางทิศตะวันตกเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564

  • 8 ตุลาคม 2564 ฉบับที่ 7 เวลา 04.00 น.

พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” แล้ว มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 600 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองวินห์ ประเทศเวียดนาม หรืออยู่ที่ละติจูด 17.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.3 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เกือบไม่เคลื่อนที่ คาดว่าเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564

เตือนภัย

  • มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ระวังฝนตกสะสม น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก
  • ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
  • บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
  • ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

3 ภาค ระวังฝนตกหนัก

ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยความคืบหน้าพายุไลออนร็อก ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ระบุว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังแรงในช่วง 8-11 ตุลาคม 2564 ส่วนร่องมรสุมพาดผ่าน ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง

เตรียมตัวรับมือพายุ

ข้อมูลจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (ปภ.) ระบุวิธีรับมือพายุ ลดเสี่ยงอันตรายไว้ดังนี้

เตรียมพร้อมรับมือ

  1. ติดตามพยากรณ์อากาศ
  2. ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้มั่นคง แข็งแรง
  3. จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด
  4. ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น
  5. พบเห็นเสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาไม่แข็งแรงให้รับแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กรณีอยู่ในอาคาร

  1. ไม่อยู่ยริเวณดาดฟ้าหรือระเบียง เพราะเสี่ยงถูกฟ้าผ่า
  2. ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันอันตรายจากลมแรง
  3. งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ป้องกันการถูกฟ้าผ่า

กรณีอยู่กลางแจ้ง

  1. อยู่ห่างจากสิ่งก่อสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ป้องกันการถูกล้มทับ
  2. ไม่อยู่ใกล้วัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
  3. งดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ลดเสี่ยงการถูกฟ้าผ่า