เปิด กรุงเทพฯ แซนด์บอกซ์ 1 พ.ย. คนไทย-ต่างชาติ ต้องรู้อะไรบ้าง

กรุงเทพฯ แซนด์บอกซ์

กรุงเทพมหานคร ประกาศเปิดเมือง พร้อม 16 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว 1 พ.ย. นี้ ภายใต้ชื่อ “กรุงเทพฯ แซนด์บอกซ์” เปิดรับนักท่องเที่ยว 46 ประเทศ เข้าพื้นที่ไม่ต้องกักตัว ภายใต้เงื่อนไขมาตรการควบคุมโควิด

1 พฤศจิกายน 2564 วันนัดหมาย “เปิดประเทศ” พร้อมกันในพื้นที่ 17 จังหวัด “นำร่องท่องเที่ยว ซึ่งมีกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็น 1 ในรายชื่อ โดยนายอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ใช้ชื่อเรียกโครงการว่า “กรุงเทพฯ แซนด์บอกซ์”

ทั้งนี้ การเปิดเมืองของกรุงเทพฯ เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยในต่างประเทศ ในครั้งนี้ ต้องดำเนินการภายใต้มาตรการสาธารณสุขและต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปข้อมูลการปฏิบัติตนของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ดังนี้

ร่วม “กรุงเทพฯ แซนด์บอกซ์” ต้องทำอย่างไร

1. คนไทยและต่างชาติที่เดินทางจาก 45 ประเทศ + 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เข้ามาประเทศไทยได้ โดยไม่จำเป็นต้องกักตัว และสามารถเดินทางได้ทุกจังหวัด

เงื่อนไข คือ ผู้ที่จะเดินทางจะต้องพำนักในประเทศที่กำหนดนั้น ๆ ต่อเนื่องอย่างน้อย 21 วัน ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ยกเว้นคนไทยหรือเดินทางออกจากประเทศไทย ซึ่งต้องมีการจองโรงแรม AQ 1 คืนระหว่างรอผลตรวจ RT-PCR

2. ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศไหนก็ตาม (กรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์ในกลุ่มแรก) ให้ใช้หลักการเดียวกับโปรแกรมแซนด์บอกซ์ (Sandbox) และต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ดังนี้

  • ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม
  • มีการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมงด้วยวิธี RT-PCR
  • มีประกันสุขภาพอย่างน้อย 50,000 เหรียญสหรัฐ
  • จองที่พัก 7 คืน ตามมาตรฐานและต้องเป็นโรงแรมที่อยู่ใน Sandbox area
  • ต้องตรวจหาเชื้อซ้ำในวันที่ 6 หรือ 7 สามารถเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่แซนด์บอกซ์
  • เมื่อครบ 7 วันแล้ว จึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นได้

3. กลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับยังไม่ครบโดส สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ภายใต้เงื่อนไขการกักกัน ในสถานที่ที่ทางราชการกำหนด ดังนี้

  • สถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ (SQ)
  • สถานกักกันโรคทางเลือก (AHQ) ที่จัดการโดยเอกชน
  • สถานกักกันโรคของหน่วยงานหรือองค์กร (OQ)
  • สถานที่กักกันในส่วนของโรงพยาบาล (HQ) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล

ทั้งนี้ แต่ละกรณีจำเป็นต้องเข้ารับการกักตัว โดยจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน บางกลุ่มจะมีการกักตัว 7-10 วัน

เปิดชื่อ 46 ประเทศ เข้าไทยไม่ต้องกักตัว

รายชื่อประเทศหรือพื้นที่ ตามประกาศ ศปก.กต. ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ประกอบด้วย 46 ประเทศ ดังนี้

ออสเตรเลีย ออสเตรีย บาห์เรน เบลเยียม ภูฏาน บรูไนดารุสซาลาม บัลแกเรีย กัมพูชา แคนาดา ชิลี จีน ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ

ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น ลัตเวีย ลิทัวเนีย มาเลเซีย มอลตา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์

โปรตุเกส กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ สโลวีเนีย สาธารณรัฐเกาหลี สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง

ตั้งศูนย์ฯ ติดตามนักท่องเที่ยวร่วมแซนด์บอกซ์

กรุงเทพฯ ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร หรือ Command Center บนชั้น 27 อาคารธานีนพรัตน์ เขตดินแดง เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการในการติดตามข้อมูลของนักท่องเที่ยวที่อยู่ในโครงการ Sandbox การบริหารความเสี่ยง การป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสรัสโคโรนา 2019 (covid-19) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ชาวกรุงฉีดวัคซีนสะสม 14 ล้านโดส

ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯ กทม. เน้นย้ำว่า หากจะเปิดกรุงเทพฯ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกภาคส่วนต้องพร้อม นักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวทุกเซ็กเตอร์ และประชาชนคนในพื้นที่ต้องปลอดภัยมากที่สุด

ข้อมูลการฉีดวัคซีนของประชากรในกรุงเทพมหานคร (ข้อมูลล่าสุด 28 ต.ค. 2564 เวลา 08.00 น.) สะสม 14,899,451 โดส แบ่งเป็น

  • เข็มที่ 1 : 8,357,435 ราย
  • เข็มที่ 2 : 5,916,699 ราย
  • เข็มที่ 3 : 625,317 ราย

17 จังหวัด นำร่องท่องเที่ยว

สำหรับผู้ที่เข้าเกณฑ์ การเข้าร่วม “กรุงเทพฯ แซนด์บอกซ์” อย่างใดอย่างหนึ่ง จะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่นำร่องเที่ยว 17 จังหวัด (พื้นที่สีฟ้า) ระยะที่ 1 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา (มีผล 1 พ.ย. 64 เป็นต้นไป) ประกอบด้วย

  1. กรุงเทพมหานคร
  2. สมุทรปราการ (สนามบินสุวรรณภูมิ)
  3. กระบี่ (ทั้งจังหวัด)
  4. พังงา (ทั้งจังหวัด)
  5. ประจวบคีรีขันธ์ (ต.หัวหิน และ ต.หนองแก)
  6. เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ)
  7. ชลบุรี (อ.พัทยา อ.เกาะสีชัง อ.ศรีราชา และ อ.บางละมุง เฉพาะ ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่)
  8. ระนอง (เกาะพยาม)
  9. เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า)
  10. เลย (อ.เชียงคาน)
  11. บุรีรัมย์ (อ.เมือง)
  12. หนองคาย (อ.เมือง อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.สังคม)
  13. อุดรธานี (อ.เมือง อ.นายูง อ.หนองหาน อ.ประจักษ์ศิลปาคม อ.กุมภวาปี และ อ.บ้านดุง)
  14. ระยอง (เกาะเสม็ด)
  15. ตราด (เกาะช้าง)
  16. ภูเก็ต
  17. สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า)