สธ. เผยติดเชื้อโอไมครอนแล้ว มีภูมิลบล้างฤทธิ์เดลต้าได้

สธ. เผยติดเชื้อโอไมครอนแล้ว มีภูมิลบล้างฤทธิ์เดลต้าได้

สธ. เปิดผลการศึกษาแอฟริกาใต้ชี้ผู้ติดเชื้อโอไมครอน ภูมิต้านทานธรรมชาติพุ่ง 14 เท่า-กันเดลต้าได้ 4 เท่า ชี้กรมวิทย์เร่งเก็บข้อมูล พร้อมจับตาโควิดสายพันธุ์ใหม่ในประเทศฝรั่งเศส พบหลบภูมิคุ้มกันวัคซีนได้ดี

วันที่ 4 มกราคม 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์โอไมครอนว่า เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา มีข่าวว่าโควิดจะไม่หยุดแค่เพียงสายพันธุ์โอไมครอน และมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา ขอเรียนว่าไม่ใช่เรื่องใหม่

เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งสายพันธุ์น่ากังวลขึ้นมา ในตอนแรกมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟ่า เดลต้า แกมมา และเบต้า พร้อมกับจับตา 2 สายพันธุ์ คือ B.1.640 ซึ่งมาแล้วเงียบหายไป อีกส่วนคือสายพันธุ์โอไมครอนที่ก้าวขึ้นมาเป็นสายพันธุ์น่ากังวลอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ B.1.640 กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจากมีการแตกสายพันธุ์ย่อยออกเป็น B.1.640.1 และ B.1.640.2 ซึ่งพบการติดเชื้อราว 400 คน ส่วนใหญ่พบในประเทศฝรั่งเศส แต่มีการพบครั้งแรกจากประเทศคองโก

ที่น่าสนใจคือ จากการวิเคราะห์ทาง Phylogenetics พบว่า สายพันธุ์ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายโอไมครอน โดยมีการกลายพันธุ์บน Spike protein ชนิด SNPs 14 ตำแหน่ง และหายไปอีก 9 ตำแหน่ง ซึ่งความพิเศษคือพบ N501Y และ E484Q ได้เหมือนเบต้า แกมมา และโอไมครอน ที่สามารถ “หลบภูมิคุ้มกันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19” ได้ดี ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป

ขณะที่ในข่าวร้ายยังมีข่าวดี โดยผลการศึกษาจากประเทศแอฟริกาใต้เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อโอไมครอนนั้นพบว่า หลังติดเชื้อโอไมครอนแล้วมีการเจาะเลือดวัดปริมาณภูมิต้านทานธรรมชาติ จะมีภูมิคุ้มกันโควิดเพิ่มขึ้น 14 เท่า โดยเฉพาะการกันการติดเชื้อในสายพันธุ์เดิมซ้ำ

ขณะเดียวกันผลศึกษาครั้งนี้ยังชี้ว่า เมื่อติดเชื้อโอไมครอนแล้ว จะมีภูมิต้านทานโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ 4 เท่า แต่พบในบางคนไม่ใช่ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมาก่อนแล้ว

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะนำเลือดผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนมาทดสอบร่วมกับสายพันธุ์เดลต้าว่าจะสามารถป้องกันได้หรือไม่

ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อโอไมครอนในไทยวันนี้ (4 ม.ค.) มี 5 จังหวัดที่มีการติดสูงสุด คือ กทม. 585 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7 ราย, กาฬสินธุ์ 233 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศสูงถึง 231 ราย, ร้อยเอ็ด 180 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด, ภูเก็ต 175 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 17 ราย , ชลบุรี 162 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 70 ราย และสมุทรปราการ 106 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 28 ราย

“โดยสรุปขณะนี้ไทยพบการติดเชื้อโอไมครอนกระจายไปแล้วราว 54 จังหวัด ทำให้ภาพรวมโอไมครอนในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ 70-80% ของการติดเชื้อโดยรวมยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้าอยู่ และข้อมูลในต่างประเทศยังชี้ชัดว่าโอไมครอนสามารถหักล้างฤทธิ์เดลต้าได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ประชาชนทุกคนไปติดเชื้อโอไมครอน เพื่อป้องกันเดลต้า”