คลายล็อกคุมโควิด จากระดับ 4 เหลือ 3 ประชาชน ธุรกิจ ทำอะไรได้บ้าง

โควิด

เปิดมาตรการคุมโควิด-19 ระดับ 3 สธ. เตรียมปรับลดจากระดับ 4  หลังแนวโน้มผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตสามารถควบคุมได้ 

วันที่ 19 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเตือนภัยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 หลังพบผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนในไทยรายแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเมื่อวานนี้ (18 ม.ค.) ว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมประกาศลดระดับเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ภายหลังได้ติดตามสถานการณ์โควิดมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 โดยพบว่าแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้ออาการหนักและเสียชีวิตสามารถควบคุมได้

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปมาตการการเตือนภัยโรคโควิด-19 ระดับ 3 และคำแนะนำของประชาชน สถานประกอบการ ในปี 2565 ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร (ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 27 ธ.ค.64)

มาตรการคุมโควิดระดับ 3 ทำอะไรได้บ้าง

  • สถานที่เสี่ยง : ทุกคนงดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิด/แออัด
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก : กลุ่ม 608/ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เลี่ยงร่วมกิจกรรมที่รวมกลุ่มจำนวนมาก
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด : กลุ่ม 608/ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท
  • การเดินทางเข้าประเทศ : กลุ่ม 608/ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ งดเดินทางไปต่างประเทศคนทั่วไป เลี่ยงเดินทางไปต่างประเทศ เข้าประเทศต้องกักตัว

มาตรการคุมโควิด 5 ระดับ

เตือนภัยโควิดระดับ 3 มีข้อแนะนำอย่างไร

  • งดเข้าสถานที่เสี่ยง : ร้านอาหารปรับอากาศ
  • งดทานอาหารร่วม-ดื่มสุราในร้าน
  • เลี่ยงการไปซื้อของที่มีคนจำนวนมาก : ตลาด ห้างสรรพสินค้า
  • เลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน หรือ งดร่วมกิจกรรมกลุ่มตามเกณฑ์ฯ (เกณฑ์จำนวนคนขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงต่อการรบาดของโรค รายจังหวัด)
  • ทำงานที่บ้าน (WFH) 50-80% และชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด หากจำเป็นใช้รถส่วนตัว
  • เน้นการสวมหน้ากากอนามัย 100%
  • เลี่ยงเดินทางไปต่างประเทศ
  • เดินทางเข้าประเทศต้องตัวในระบบ Alternative State Quarantine (AQ)

ประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้วเท่าไร ?

ข้อมูลจำนวนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ตามการรายงานจากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 18 มกราคม 2565 มีการฉีดวัคซีน (แบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย) ดังนี้

บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข : ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 866,229 คน เข็มที่ 2 จำนวน 848,659 คน และเข็มที่ 3 จำนวน 728,223 คน

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน : ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 789,676 คน เข็มที่ 2 จำนวน 767,032 คน และเข็มที่ 3 จำนวน 311,484 คน

ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค : ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 4,967,826 คน เข็มที่ 2 จำนวน 4,676,257 คน และเข็มที่ 3 จำนวน 1,082,722 คน

ประชาชนทั่วไป : ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 33,554,116 คน เข็มที่ 2 จำนวน 30,531,653 คน และเข็มที่ 3 จำนวน 7,047,651 คน

ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป : ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 8,314,237 คน เข็มที่ 2 จำนวน 7,650,807 คน และเข็มที่ 3 จำนวน 1,527,793 คน

นักเรียน/นักศึกษา อายุ 12-17 ปี : ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 3,387,371 คน เข็มที่ 2 จำนวน 3,258,745 คน และเข็มที่ 3 จำนวน 0 คน

รวมยอดการฉีดวัคซีนทั้ง 3 เข็มในประเทศไทยขณะนี้ (นับเป็นโดส) อยู่ที่ 110,310,481 โดส โดยเป็นไปตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

เป้าหมายต่อไป รัฐบาลประกาศผ่านมติ ของ ศบค.ระบุเป้าหมายการฉีดวัคซีน เพิ่มเป็น 120 ล้านโดส โดยมุ่งเข้าสู่การฉีด “เข็มกระตุ้น” เข็ม ที่ 3 และเข็มที่ 4  จำนวน 20 ล้านโดส ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565