ทีดีอาร์ไอ ชง 4 ทางออก ฝ่าวิกฤตอหิวาต์แอฟริกันหมู

ภาพจาก กรมประชาสัมพันธ์

ทีดีอาร์ไอ แนะ 4 มาตรการ แก้อหิวาต์แอฟริกันหมู ชี้ต้องคิดถึงนโยบายสร้างระบบป้องกันและควบคุมการระบาดให้เข้มข้น

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านศึกษาการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ และนโยบายเกษตรสมัยใหม่, นางสาวอุไรรัตน์ จันทรศิริ นักวิจัยอาวุโส นโยบายการกำกับดูแลที่ดี (Good Regulatory Policy)  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และศาสตราจารย์ (กิตติคุณ) อรรณพ คุณาวงษ์กฤต อดีตคณบดี คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ เรื่อง ข้อเสนอแนวทางการรับมือกับปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรในประเทศไทย สาระสำคัญคือ การเสนอ 4 แนวทางในการแก้ไขปัญหาแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ที่ส่งผลให้ราคาหมูในประเทศไทยมีราคาแพงสูงลิ่ว ประกอบด้วย

หมูแพง
ภาพจาก pixabay

1.รัฐบาลกับผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมกันดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อควบคุมการระบาดของโรค ASF และมีมาตรการป้องกันมิให้เกิดการระบาดซ้ำในพื้นที่เดิม หรือการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น ๆ มี 8 วิธีการ ดังนี้

  • จัดทำแผนงานการกำจัดหรือการอยู่กับโรค ASF รวมทั้งการควบคุมและป้องกันการระบาด
  • จัดข้อมูล องค์ความรู้ด้านความเสี่ยง และความปลอดภัยทางชีวภาพที่ถูกต้องเหมาะสมกับห่วงโซ่อุปทานของสุกรในประเทศไทย รวมทั้งการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างโปร่งใส
  • ขึ้นทะเบียนฟาร์ม/ปรับปรุงทะเบียนฟาร์ม จำนวนสัตว์ การควบคุมการเคลื่อนย้าย การฆ่า และการแปรรูปให้มีประสิทธิภาพและถูกต้องมากที่สุด
  • สำรวจโรคและตรวจสอบโรคด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่แพงและรวดเร็ว
  • ชดเชยการทำลายสุกรแก่ผู้เลี้ยงสุกรอย่างเป็นธรรม และพัฒนาระบบประกันสุขภาพสัตว์ที่มีอัตราการคุ้มครองที่เหมาะสมร่วมกับภาคเอกชน
  • รัฐสนับสนุนงบประมาณวิจัยด้านการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค รวมทั้งมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  • กำหนดมาตรการแรงจูงใจเพื่อให้ฝ่ายต่าง ๆ สามารถดำเนินการตามแผนงานอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
  • กำหนดมาตรการนำเข้าเนื้อสุกรเป็นการชั่วคราว โดยมีมาตรการป้องกัน (safeguard measures) ที่สอดคล้องกับมาตรา 19 ของ GATT 1994 หรือมาตรการอื่นเพื่อป้องกันความเสียหายต่อผู้เลี้ยงสุกรในระยะยาว รัฐบาลอาจกำหนดให้มีการนำภาษีนำเข้าบางส่วนมาใช้เป็นเงินชดเชยการทำลายสุกร

2.ลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ และกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่จำเป็นต้องมีอย่างชัดเจน มี 5 วิธีการ ได้แก่

  • โรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ต้องมีห้องปฏิบัติการตรวจโรคที่รวดเร็วและการลงทุนดังกล่าวควรได้รับเงินอุดหนุนบางส่วนจากรัฐ
  • รัฐบาลต้องลงทุนในโรงกำจัดซากทั้งที่เป็นโรคและไม่เป็นโรคเหมือนในต่างประเทศ
  • ตั้งกองทุนชดเชยการทำลายสุกร และระบบประกันภัยโรคสัตว์ รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมให้มีระบบประกันภัยโรคสัตว์โดยภาคเอกชน
  • ตั้งทีมงานเพื่อปฏิบัติงานที่เร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ 3 ด้าน ได้แก่ ทีมจ่ายเงินเยียวยาและฟื้นฟูหลังโรคระบาด, ทีมสื่อสารประชาสัมพันธ์ และคณะทำงานร่วมภาครัฐสร้างกรมธรรม์ประกันภัยโรคสุกร
  • ให้ห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคสัตว์ของมหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระทางวิชาการ (Academic Freedom) และต้องเปิดเผยผลการตรวจโรคต่อเจ้าของสัตว์และต่อสาธารณะ และไม่ต้องขออนุญาตรัฐบาล

3.กำหนดยุทธศาสตร์และเส้นทาง (road map) สู่การปลอดโรค ศึกษาตัวอย่างการดำเนินงานของประเทศที่ประสบปัญหา ASF มาก่อน เช่น สเปน จีน เวียดนาม เป็นต้น

และ 4. จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเสนอแนะแนวทางและมาตรการในการดำเนินงานตามข้อเสนอทั้ง 3 ข้อข้างต้น ควรประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เลี้ยงสุกร นักวิชาการด้านต่าง ๆ และสื่อมวลชน นอกจากนั้น คณะกรรมการควรมีอำนาจแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอในข้อดังที่กล่าวมาข้างต้น

นอกจากนี้ ผู้เขียนบทความทั้ง 4 ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญคือ การลงทุนสร้างระบบป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคที่เข้มข้น รวมถึงการพัฒนางานวิจัยด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตรวจหา antigen และantibody การพัฒนายาและวัคซีน ฯลฯ

นโยบายดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมสุกรไทยมีโอกาสกลับมาเริ่มต้นพัฒนาการเลี้ยงสุกรภายใต้ระบบความปลอดภัยด้านชีวภาพสูงสุดที่จะทำให้อุตสาหกรรมสุกรกลับมาเติบโตจนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อสุกรรายสำคัญได้ในระยะยาว ผู้เลี้ยงสุกรทุกขนาดจะมีรายได้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน

ราคาหมู