การรถไฟฯ ทดลองขนส่งสินค้าทางรางสุพรรณฯ-สุราษฎร์ฯ 400 กม.

การรถไฟฯ ร่วมไทยเรล โลจิสติกส์-บุญรอดฯซัพพลายเชน เปิดทดลองขนส่งสินค้าทางรางนำร่องสุพรรณบุรี-สุราษฎร์ธานี 400 กม. ชี้ทางเลือกใหม่การขนส่ง ต้นทุนต่ำ แก้ปมน้ำมันราคาแพง เชื่อขนส่งทางรางยังโตได้อีก จากปัจจัยบวกการขยายรถไฟทางคู่ คาด มิ.ย. 65 เริ่มส่งสินค้าจริง

วันที่ 22 มีนาคม 2565 นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟ ผ่านความร่วมมือระหว่าง ร.ฟ.ท. ไทยเรล โลจิสติกส์ และบุญรอดฯซัพพลายเชน ถือเป็นก้าวแรกในการส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางรางจากโรงงานผลิต ไปยังศูนย์กระจายสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟสายใต้

สอดนับกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบรางให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ

เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางรางถือเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน และมีความคุ้มค่า สามารถขนส่งได้ครั้งละจำนวนมากกว่าทางถนนหลายเท่าตัว หรือคิดเป็น 1 ขบวนรถไฟ สามารถขนของได้มากกว่าการขนส่งโดยรถบรรทุก 10 คัน แต่ใช้เวลามากกว่าเล็กน้อย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังเป็นช่องทางในการช่วยเพิ่มรายได้แก่การรถไฟฯ ด้วย

เบื้องต้นในวันนี้ (22 มี.ค.) บริษัท ไทยเรล โลจิสติกส์ จำกัด ผู้ขนส่งผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ตราสิงห์) ได้นำร่องขนส่งสินค้าบนแคร่แบบเปลือยจำนวน 10 แคร่

และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างโมเดิร์นเทรด โลตัส) ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ด้วยตู้สินค้าประเภทคอนเทนเนอร์อีก 10 แคร่

ทั้งนี้ ได้เริ่มทดสอบการขนส่งสินค้าทางรางมีจุดเริ่มต้นที่สถานีศรีสำราญ จ.สุพรรณบุรี และมีปลายทางอยู่ที่ชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ จ.สุราษฎร์ธานี รวมระยะทาง 400 กิโลเมตร

โดยในการเดินขบวนนี้การรถไฟฯ จะมีการทดสอบกระบวนการจัดการขนส่ง วิเคราะห์ต้นทุนการขนส่ง รวมถึงวิธีการบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคในครั้งต่อไป หากการขนส่งเป็นไปได้ด้วยดี คาดว่าในเดือน มิ.ย. นี้จะสามารถเริ่มขนส่งได้จริง

นายฐากูรกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันสัดส่วนการขนส่งสินค้า ส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุกถึง 81% และการขนส่งทางรางยังมีสัดส่วนเพียง 1.9%

อย่างไรก็ดี ร.ฟ.ท. เชื่อว่า การขนส่งสินค้าทางรางมีโอกาสขยายตัวได้มากในอนาคต โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูง ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งทางถนนเพิ่ม การขนส่งทางรางจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้

ประกอบกับ ร.ฟ.ท. มีการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางรถไฟสายใหม่ รวมถึงมีการจัดหาหัวรถจักรรุ่นใหม่ ซึ่งจะเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งให้กว้างขึ้น ทำให้บริษัทขนส่งต่าง ๆ มีความเชื่อมั่นต่อการขนส่งสินค้าทางราง เห็นได้จากมีลูกค้าสนใจติดต่อเข้ามาเปลี่ยนโหมดมาใช้บริการขนส่งทางรถไฟอย่างต่อเนื่อง