“กัญชา” อันตรายกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่ฤทธิ์ต่อจิตประสาท

กัญชา
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

 

ทุกวันนี้การบริโภคอาหารตามร้าน นอกจากต้องระวังยาฆ่าแมลงตกค้างแล้ว หลังการปลดล็อกกัญชา ต้องระวังอาหารจะผสมกัญชาด้วยหรือไม่

ยิ่งเมื่อได้อ่านบทความของ ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนไว้ในเพจ “บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune” ทำให้รู้สึกน่ากลัวยิ่ง

ขออนุญาตสรุปเนื้อหาบางส่วน อ.หมออดุลย์ระบุว่า กัญชามีฤทธิ์ต่อจิตประสาท เรามักได้ยินเรื่องของคนที่เสพมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง บางคนป่วยหนักเข้าห้องฉุกเฉิน จนถึงขั้นเสียชีวิต เพราะกัญชาไม่ได้มีผลต่อจิตประสาทเพียงอย่างเดียว

“สารกัญชา” เป็นสารที่จับกับตัวรับสัญญาณ (receptor) ในร่างกายหลายอย่างมาก จัดเป็นสารเคมีที่ไปออกฤทธิ์ในช่องทางร่วมกับหลายระบบ

ที่ชัด ๆ คือ ระบบประสาท ระบบประสาทอัตโนมัติ และตับ คือ เหตุที่คนป่วยหนักกะทันหัน หรือมีอาการคอแห้ง ใจสั่น หน้ามืด เพราะฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเป็นระบบที่ปรับสมดุลของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย “อัตโนมัติ” คือ คอยคุมไม่ให้หัวใจเต้นเร็ว หรือช้าเกินไป คุมไม่ให้ความดันโลหิตสูงหรือต่ำไป คุมม่านตาในการรับแสง คุมให้ลำไส้บีบตัวแต่พอดี

แต่กัญชามีสารเคมีที่จับกับระบบประสาทอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับปริมาณ และตำแหน่งที่ไปจับ อาจทำให้เส้นเลือดขยายตัว หัวใจเต้นช้า หรือในทางกลับกัน หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก คอแห้ง ลำไส้ปั่นป่วน ฯลฯ เพราะกัญชามีสารมากมาย อาการจึงไม่แน่นอน

อันตรายกว่านั้น คือ มีผลต่อตับ ซึ่งมีหน้าที่ทำลายสารเคมี ยา และสารพิษ ซึ่งยาที่เรากินอยู่ทุกวัน ที่ต้องกินเพิ่ม เพราะมันถูกทำลายที่ตับ จึงต้องกินเติมเข้าไปให้อยู่ในระดับที่ออกฤทธิ์ได้พอดี

แต่กัญชาไปปิดกั้นการทำงานของตับบางส่วน โดยเฉพาะเอนไซม์ที่ใช้ทำลายสารเคมีหรือยา ทำให้ยาเหลือในร่างกายมากขึ้น เพราะทำลายน้อยลง พอกินยาเพิ่มเข้าไปทุกวัน จึงเกิดภาวะยาเกินขีดปลอดภัย

ที่น่ากลัวมาก คือ ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาเบาหวาน ยาลดไขมัน ยานอนหลับ ฯลฯ

ถ้ารับกัญชา แล้วกินยาต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้ยามากเกินไป เลือดจะออกไม่หยุด กินยาเบาหวาน พอเจอกัญชา ยามากเกินไป ทำให้น้ำตาลต่ำ เป็นลม ยาลดไขมัน เหลือมากเกิน ปวดกล้ามเนื้อ ยานอนหลับ พอมากเกินก็ง่วงซึม หลับไม่ตื่น หรือขับรถเป็นอันตราย

ยังไม่กล่าวถึงฤทธิ์ต่อระบบประสาท จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม การตัดสินใจ การรับรู้ และความสามารถในการเรียนรู้…สิ่งที่เกิดขึ้นยังมีได้อีกหลายมุม

ดังนั้น การใช้กัญชาใส่ในอาหาร โดยไม่บอกผู้ซื้อหรือผู้กิน เป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะบางคนมีโรคประจำตัว มีการกินยาอยู่หลายอย่าง

“กัญชาเสรีจึงไม่ควรละเมิดผู้อื่น…และอย่าไปโทษว่า แพ้กัญชา ไม่ใช่แพ้…แต่นั่นเป็นผล ตามกลไกการออกฤทธิ์ทางการแพทย์” อ.หมออดุลย์กล่าว

ดังนั้น “วัวหายแล้วเพิ่งมาล้อมคอก” จะรีบทำอะไรก็ทำ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกิน…