
สสส.เปิดเผยวิธีป้องกันตัวเองจากโรคฝีดาษลิง มีอาการอย่างไรถึงต้องพบแพทย์
วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยวิธีดูเเลป้องกันตนเอง ให้ห่างไกลจากโรคฝีดาษลิง โดยโรคฝีดาษลิง (Monkeyopox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus มีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสไข้ทรพิษ ติดจากสัตว์สู่คน ไม่ว่าจะเป็นการแพร่จากสารคัดหลั่ง ตุ่มหนองของสัตว์ รวมทั้งสามารถติดโรคจากคนสู่คน โดยสัมผัสสารคัดหลั่ง สัมผัสแผลหรือใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ติดเชื้อโดยตรงและสามารถแพร่เชื้อจากหญิงตั้งครรภ์สู่ทารกในครรภ์ได้
ส่วนใหญ่มักพบในพื้นที่ป่าของแอฟริกากลางและตะวันตก ทำให้มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ Congo Basin พบอัตราการเสียชีวิต 10% และสายพันธุ์ West African พบอัตราการเสียชีวิต 1% ซึ่งปัจจุบันไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับป้องกันโรคฝีดาษลิง แต่วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน สามารถใช้ป้องกันได้
4 ระยะ โรคฝีดาษลิง
- ระยะฟักตัว จะไม่แสดงอาการช่วง 5-44 วันหลังจากได้รับเชื้อ
- ระยะไข้ 1-4 วัน มีอาการปวดหัว เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลือง
- ระยะผื่น 1-2 สัปดาห์ จะเริ่มจากผื่นแบน ผื่นนูน ผื่นมีน้ำใสใต้ผื่น โดยผื่นมักจะขึ้นที่บริเวณใบหน้า แขน และขา มากกว่าที่ลำตัว โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจากจุดแดง ๆ กลม ๆ หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส และกลายเป็นตุ่มหนอง และกลายเป็นสะเก็ด เป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูงสุด
- ระยะฟื้นตัว ใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์
วิธีการป้องกันตนเองจากฝีดาษลิง
- หลีกเลี่ยงสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง และตุ่มหนองของสัตว์
- รับประทานเนื้อสัตว์ปรุงสุก
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป
- ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ป่า หรือนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
- สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่
อาการแบบไหนต้องพบแพทย์
หากเราพบผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่สงสัยติดเชื้อ จะต้องแยกผู้เสี่ยงติดเชื้อออกจากผู้อื่น เป็นเวลา 21-28 วัน จนกว่าผื่นจะตกสะเก็ด ในกรณีที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกันกับผู้เสี่ยงติดเชื้อ (อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน, เป็นสามีภรรยากัน, มีความสัมพันธ์กัน) ให้สังเกตอาการของตนเอง และแยกตัวเองออกจากผู้อื่นเช่นเดียวกัน