เหลียวหน้าแลหลัง ‘โซลชาร์’ แยกทางปีศาจแดง สะท้อนอะไรบ้าง

โอเล กุนนาร์ โซลชาร์
อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

วันที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แยกทางกับ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ กุนซือซึ่งเป็นอดีตหัวหอกระดับตำนานอีกรายของสโมสรมาถึงแล้ว ความพ่ายแพ้ต่อวัตฟอร์ดในเกมพรีเมียร์ลีกด้วยสกอร์ถึง 1-4 ทำให้เหตุการณ์ที่แฟนบอลปีศาจแดงหลายคนเรียกร้องกันมาเป็นระยะเกิดขึ้นจริงในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2021 (ตามเวลาในไทย) ข่าวการแยกทางครั้งนี้มีควันหลงที่ตามมาหลากหลายแง่มุมทีเดียว

ยากจะปฏิเสธว่าผลงานในสนามและฟอร์มการเล่นของปีศาจแดงนับตั้งแต่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือไปยังคงวนเวียนในลูปอันน่าเจ็บปวด พวกเขามีช่วงเวลาที่ดีระยะหนึ่ง ผ่านไปไม่นานนักผลงานก็กลับมาปวดร้าวอีกครั้ง จากยุคของ เดวิด มอยส์ หลุยส์ ฟาน กัล โจเซ่ มูรินโญ่ และล่าสุดคือโซลชาร์ที่ “แยกทาง” กับต้นสังกัดไปแล้วแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตั้ง ไมเคิล คาร์ริค อีกหนึ่งอดีตนักเตะของทีมที่ผันมาทำงานโค้ชมารับตำแหน่งชั่วคราวแบบขัดตาทัพจนถึงจบฤดูกาล ขณะที่ทีมดังอยู่ระหว่างหากุนซือถาวรมาทดแทน

ในแถลงการณ์ของสโมสรใช้คำว่า “โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีมแล้ว” ตามฉบับ “บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น” ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ สโมสรยังระบุข้อความที่พยายามไม่ให้กระทบกระเทือนสถานภาพ “ขวัญใจ” แฟนบอลจากบทบาทในอดีตที่โซลชาร์เคยรับใช้ทีมในตำแหน่งศูนย์หน้านานร่วมทศวรรษ

ขณะที่สื่ออังกฤษหลายแห่งรวมถึง “บีบีซี” ต่างใช้คำว่า “ปลด” แบบตรงไปตรงมา รายงานข่าวเชิงลึกจากเดอะการ์เดียนเผยข้อมูลความเคลื่อนไหวหลังม่านก่อนจะนำมาสู่แถลงการณ์ครั้งสำคัญว่า ภายหลังทีมพ่ายวัตฟอร์ดด้วยสกอร์หลุดลุ่ย บอร์ดบริหารของสโมสรเรียกประชุมด่วนในคืนวันเสาร์ และท้ายที่สุดโจ เกลเซอร์ ประธานร่วมของสโมสรและอีกหนึ่งบุคคลสำคัญจากตระกูลเกลเซอร์ ตระกูลนักธุรกิจอเมริกันที่ถือครองสโมสรเห็นชอบคำสั่งนี้

รายงานข่าวเผยข้อมูลน่าสนใจอย่างหนึ่งว่า การประชุมฉุกเฉินกินเวลาหลายชั่วโมง และแผนการที่ออกมาส่วนหนึ่งคือหลีกเลี่ยงประกาศให้ออกมาด้วยท่าทีว่าโซลชาร์ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และเอ่ยถึงการตัดสินใจครั้งนี้ว่าเป็นการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย หากย้อนกลับมาดูเนื้อหาในแถลงการณ์ สโมสรค่อนข้างแสดงออกชัดเจนว่ายังต้อนรับเขาในฐานะส่วนหนึ่งของครอบครัวเสมอ

แม้สโมสรจะพยายามระบุว่า โซลชาร์จะไม่ได้ถูกระลึกในประวัติศาสตร์สโมสรจากแค่บทบาทนักเตะ แต่ยังรวมถึงปัจเจกบุคคลที่ยอดเยี่ยม และผู้จัดการทีมซึ่งสร้างความทรงจำดี ๆ ให้มากมาย

สำหรับแฟนบอลบางส่วนที่ต้องการประสิทธิผลเชิงรูปธรรมมากกว่าวัดผลจากการประเมินของฝ่ายบริหารสโมสร กลุ่มนี้ต้องการทั้งถ้วยแชมป์และฟอร์มการเล่นในสนามที่คู่ควรกับถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ด หากเทียบในเชิงรูปธรรมกุนซือที่รับงานต่อจากเฟอร์กี้ เรียงรายชื่อไปจาก เดวิด มอยส์, หลุยส์ ฟาน กัล และ โจเซ่ มูรินโญ่ ทั้ง 3 รายนี้อาจไม่ได้สร้างทีมในฝันให้แฟนบอล กุนซือคนดังทั้งหลายคุมทีมปีศาจแดงมีทั้งฟอร์มดีและฟอร์มแย่ไม่ต่างจากโซลชาร์ตัวแปรที่แตกต่างชัดเจนคือถ้วยแชมป์

ระยะเวลาราว 3 ปีที่โซลชาร์ทำงานในเก้าอี้ตำแหน่งกุนซือกับทีมเก่า อดีตนักเตะทีมชาตินอร์เวย์พาทีมเป็นรองแชมป์ยูโรป้าลีก ส่วนกุนซือทั้ง 3 รายข้างต้นล้วนมีแชมป์ติดมืออย่างน้อย 1 รายการ แม้แต่เดวิด มอยส์ ที่คุมปีศาจแดงแค่ 51 เกมยังได้ชูโล่ถ้วยการกุศล “คอมมิวนิตี้ชีลด์”

ความล้มเหลวในการคุมทีมนัดชิงรายการยุโรปถ้วยเล็กของยูฟ่า ฟอร์มการเล่นของทีมปีศาจแดงที่ไม่สม่ำเสมอ รูปแบบการเล่นที่แปรผันไปบ่อยครั้ง หรือแม้แต่ผลงานซึ่งทำให้สาวกปีศาจแดงปวดใจอย่างความพ่ายแพ้ต่อลิเวอร์พูล คู่ปรับตลอดกาลในลูกหนังอังกฤษด้วยสกอร์มากถึง 0-5 กระนั้น หลังทีมผ่านสภาพข้างต้นมาแล้ว โซลชาร์ยังได้รับการสนับสนุนจากบอร์ดบริหาร (รวมถึงเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ด้วย)

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สโมสรใหญ่จะให้โอกาสและให้เวลาคนทำงานเร่งทำผลงานพลิกสถานการณ์ขึ้นมา ประเด็นที่แฟนบอลกลุ่มใหญ่วิจารณ์มาตลอด คือ แม้โซลชาร์จะมีผลงานที่น่าพอใจในบางแง่มุม กุนซือหนุ่มมีบทบาทต่อการก่อร่างวัฒนธรรมภายในทีมขึ้นมาใหม่หลังจากผ่านยุคของฟาน กัล และมูรินโญ่

อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่ผลงานเหล่านี้ไม่เพียงพอสำหรับสโมสรระดับปีศาจแดง ประเมินเวลาที่ใช้สร้างทีม งบฯที่ลงทุนเสริมไปเทียบกับผลงาน ปฏิเสธได้ยากว่าโซลชาร์ทำได้ไม่ถึงกับล้มเหลวเสียทั้งหมด แต่แน่นอนว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้อีกมาก

แฟนบอลคาดหวังมากกว่าแค่ผลประกอบการที่ดีและตั๋วไปเล่นรายการฟุตบอลยุโรปหรือพาทีมไปสุดที่ “ลุ้น” ชูแชมป์ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่โซลชาร์ยังไม่สามารถนำมาให้ได้ ที่สำคัญคือทีมเผชิญลูปวนกลับไปมาอยู่หลายครั้ง สุดท้ายก็ไม่สามารถหลุดพ้นและเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีนัยสำคัญจริง ๆ และแน่นอนว่าวันที่บอร์ดต้องตัดสินใจก็มาถึง แต่คำถามคือ มาช้าไปหรือไม่ เวลาที่ผ่านมาทำให้ทีมเสียอะไรไปบ้าง ?

แฟนบอลปีศาจแดงบางรายอาจมองว่าบอร์ดน่าจะตัดสินใจแบบนี้ไปเสียนานแล้ว ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อวันนี้มาถึงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดกลับเข้ามาสู่ห้วงรีเซตก่อร่างทีมใหม่อีกครั้ง ฤดูกาลนี้ก็ต้องลุ้นกันอีกว่ากุนซือที่มาขัดตาทัพจะพาทีมไปได้ถึงแค่ไหน

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ คนที่จะมารับตำแหน่งรายต่อไปในช่วงที่พรีเมียร์ลีกและลูกหนังยุโรปแข่งขันกันสูงมาก ความคาดหวังของทีมและแฟนบอลก็สูงไม่แพ้กัน ความท้าทายข้างหน้าจะเป็นบทพิสูจน์ “กึ๋น” ในยุคตระกูลเกลเซอร์ บริหารสโมสรอีกครั้งหนึ่ง