งบลงทุนรัฐค้างท่อ 1.2 แสนล้าน ไฟเขียวยืดเซ็นสัญญา มี.ค.นี้

สำนักงบฯปรับมาตรการเร่งรัดเบิกจ่าย หลังงบฯลงทุนไตรมาสแรกค้างท่อ 1.2 แสนล้าน ครม.ให้ยืดเซ็นสัญญาถึง มี.ค. คาดไตรมาส 2 เทกระจาดได้เพิ่ม 6 หมื่นล้านคาดโทษ 10 กระทรวงเบิกจ่ายอืด เผยแห่ขอจัดสรรงบฯกลางปีทะลุ 2 แสนล้าน

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานและเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ ภายใต้มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 หลังพบว่าผลการเบิกจ่ายงบฯลงทุน ณ สิ้นไตรมาสแรก (ต.ค.-ธ.ค. 2560) เบิกจ่ายได้ 87,182 ล้านบาท หรือ 13.21% ต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ แต่มีการก่อหนี้ผูกพันแล้ว 253,168 ล้านบาทหรือ 38.37% และมีงบฯลงทุนจำนวนหนึ่งที่เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และบางส่วนจัดซื้อจัดจ้างแล้ว แต่ลงนามไม่ทันวันที่ 30 ธ.ค. 2560

งบฯลงทุนค้างท่อ 1.2 แสนล้าน

ในส่วนของรายจ่ายลงทุนรายการปีเดียวที่ยังก่อหนี้ผูกพันไม่ทัน 30 ธ.ค. 2560 มีจำนวน 128,310 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) อยู่ระหว่างปรับแผน 30,286 ล้านบาท 2) อยู่ระหว่างประกาศประกวดราคา/จัดซื้อจัดจ้าง 46,574 ล้านบาท 3) ได้ผลประกวดราคา/จัดซื้อจัดจ้างแล้ว รอลงนามในสัญญา 19,545 ล้านบาท 4) ก่อหนี้ผูกพันแล้วช่วงเดือน ม.ค. 2561 จำนวน 16,397 ล้านบาท และอื่น ๆ เช่น ดำเนินการเอง เป็นต้น 15,526 ล้านบาท

“พบว่า รายจ่ายลงทุนที่เป็นรายจ่ายปีเดียวเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท แต่ลงนามไม่ทัน สำนักงบฯจึงขอให้ ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาให้สามารถลงนามได้หลัง 30 ธ.ค. 2560 จะทำให้มีงบฯลงทุนอีกราว 60,000 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบได้ภายในสิ้นเดือน ก.พ. หรือกลาง มี.ค.นี้”

จี้รายงานสัญญาก่อหนี้ 16 ก.พ.

สำหรับรายจ่ายลงทุนที่ ครม.ผ่อนปรนให้ จะเป็นรายการลงทุนปีเดียวที่วงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท และได้เข้าสู่กระบวนการประกวดราคาแล้ว แต่ก่อหนี้ผูกพันไม่ทันในไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2561 และให้รายงานแผนการใช้จ่ายและความคืบหน้าเข้ามาที่สำนักงบฯ ภายใน 16 ก.พ.นี้

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า การปรับปรุงมาตรการดังกล่าว ยังคงเป้าหมายการเบิกจ่ายงบฯปีนี้ไว้เช่นเดิม คือ ตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายงบฯรายจ่ายภาพรวมไม่น้อยกว่า 96% เบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า 88% ซึ่งถึงสิ้นไตรมาสแรก มีการเบิกจ่ายภาพรวมแล้ว 897,768 ล้านบาท หรือ 30.96% แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 810,586 ล้านบาท หรือ 36.18% รายจ่ายลงทุน 87,182 ล้านบาท หรือ 13.21%

“ไตรมาสแรก เบิกจ่ายลงทุนยังต่ำเป้า แต่ดูการก่อหนี้ผูกพันแล้ว ดีกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนรายจ่ายประจำไม่มีปัญหา ให้เร่งเบิกพวกงบฯฝึกอบรมให้ได้ 50% และต้องการเร่งรัดงบฯลงทุนให้ลงสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ”

ใช้สถิติวัดประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ครม.ยังกำหนดด้วยว่า เมื่อสิ้นสุดไตรมาส 2 (สิ้น มี.ค. 2561) แล้ว ให้สำนักงบฯนำรายจ่ายลงทุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ตามกำหนด ทั้งรายการปีเดียว และรายการผูกพัน เป็นเครื่องชี้วัดสะท้อนประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณของหน่วยงาน มาประกอบการพิจารณาในการจัดทำงบฯรายจ่ายประจำปีงบฯ 2562 ต่อไป

“เราต้องการให้ส่วนราชการที่ของบฯโครงการจะต้องพร้อมลงนาม จะได้เบิกจ่ายไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เพราะดูสถิติแล้วทั้งรายจ่ายประจำ รายจ่ายลงทุน ปกติจะเบิกได้ไม่ถึง 95% จึงเสนอว่าถ้าเบิกจ่ายไม่ถึง จะเอาสถิติย้อนหลัง 3 ปีมาเป็นตัวชี้วัดการทำงาน และประสิทธิภาพด้านการเบิกจ่ายงบฯลงทุน หากหน่วยงานไหนยังเฉื่อย ๆ ก็อาจได้รับการจัดสรรงบฯปีงบฯ 2562 น้อยกว่าที่ขอมา”

ตั้งเป้าเบิกงบฯเพิ่ม 1.5 แสนล้าน

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า ในส่วนที่รัฐบาลได้จัดทำงบฯรายจ่ายเพิ่มเติม 150,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ส่วนราชการได้ส่งคำขอรับการจัดสรรงบฯเข้ามาแล้ว วงเงินคำขอรวมทั้งสิ้น 200,000 ล้านบาท ซึ่งจะพิจารณาจัดสรรให้ตามโจทย์ที่รัฐบาลต้องการดูแลประชาชน ทั้งด้านการปฏิรูปภาคเกษตร การสนับสนุนมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน และโครงการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ

“เราให้ส่วนราชการส่งคำขอ ถึงวันที่ 9 ก.พ. หลังจากนี้จะจัดสรรให้อยู่ภายใต้กรอบ 150,000 ล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่จะเบิกจ่ายให้หมดได้ภายในเดือน ก.ย. 2561 ไม่สนับสนุนให้กันเหลื่อมปี ดังนั้นคงตั้งเป้าเบิกจ่ายให้ได้ 100% ไว้ก่อน”

ทั้งนี้ ตามกำหนด สำนักงบฯจะเสนอ ครม.พิจารณาจัดสรรงบฯเพิ่มเติม 150,000 ล้านบาทอีกครั้งกลางเดือน มี.ค.นี้ และจะเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 22 มี.ค. กฎหมายน่าจะบังคับใช้ได้เดือน เม.ย.

10 กระทรวงเบิกต่ำเป้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป้าหมายเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนตามมาตรการเร่งรัดของรัฐบาล กำหนดว่าจะต้องเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนให้ได้ 21.11% ในไตรมาสแรก และเบิกจ่ายให้ได้อีก 22% ในไตรมาส 2

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง ณ วันที่ 9 ก.พ. 2561 รายงานว่า หน่วยงานระดับกระทรวงที่ยังเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนต่ำกว่า 21.11% ได้แก่ หน่วยงานของรัฐสภา เบิกจ่ายได้ 1.68% กระทรวงอุตสาหกรรมเบิกจ่ายได้ 5.23% กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 6.44% ยุติธรรม 10.40% มหาดไทย 10.50% การท่องเที่ยวและกีฬา 13.13% ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กับกระทรวง เบิกจ่ายได้ 16.03% กระทรวงแรงงาน 17.75% กระทรวงวัฒนธรรม 18.67% กลาโหม 19.31% เกษตรและสหกรณ์ 19.38% สาธารณสุข 20.88%