สัตวแพทย์ แนะเลือกซื้อเนื้อหมูจากผู้ผลิตมาตรฐาน ลดเสี่ยงโรค

ประเทศไทยมีแนวทางในการป้องกันโรคระบาดสัตว์ตามมาตรฐานสากล มีการตรวจสอบโดยกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัดควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรและซากสุกรอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างหลักประกันเนื้อสัตว์ปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Asfivirus เป็น DNA virus ที่ระบาดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ไม่ติดต่อสู่คนและไม่ติดต่อหรือเป็นอันตรายต่อสัตว์ชนิดอื่น

“เชื้อโรค ASF ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ผู้บริโภคสามารถรับประทานเนื้อหมูได้อย่างปลอดภัย โดยจะต้องให้ความร้อนปรุงสุกที่อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาทีขึ้นไป เพื่อทำลายเชื้อโรค ASF และเชื้ออื่น ๆ ที่อาจติดมาด้วย เช่น โรคไข้หูดับ โรคพยาธิ หรือโรคที่ทำให้เกิดท้องเสีย ที่สำคัญต้องเลือกซื้อเนื้อหมูจากผู้ผลิตและจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน มีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ มีการรับรองจากกรมปศุสัตว์”

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้นำระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมในสุกร (Good Farming Management : GFM) มาส่งเสริมการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและเกษตรกรรายย่อย ให้มีการจัดการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เพื่อลดปัญหาจากโรคระบาด และส่งเสริมให้สินค้าปศุสัตว์มีความปลอดภัย โดยระบบ GFM ประกอบด้วยการจัดการ 8 ด้าน คือ การจัดพื้นที่เลี้ยงและโครงสร้างการจัดการโรงเรือนหรือเล้าและอุปกรณ์ การจัดการยานพาหนะ การจัดการบุคคล การจัดการด้านสุขภาพ การจัดการอาหาร น้ำ และยาสัตว์ การจัดการข้อมูล และการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีขั้นตอนที่ปฏิบัติได้ง่าย ไม่ซับซ้อน และต้นทุนต่ำ สามารถป้องกัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดได้

จากกรณีล่าสุดที่มีการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกรเข้ามาในประเทศไทย อาจทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคกลับมาอีก หากเกิดการติดเชื้อโรค ASF ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงจะทำให้สุกรตายเป็นจำนวนมาก และเกษตรกรจะต้องทำลายสุกรที่มีความเสี่ยงทิ้งทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงควรซื้อเนื้อหมูจากร้านหรือผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ และได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีเพียงเวียดนามประเทศเดียวเท่านั้นที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้วัคซีนที่ผลิตขึ้นเองในประเทศเป็นตัวแรกของโลก เพื่อป้องกันโรค ASF ในเชิงพาณิชย์ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ยังไม่มีวัคซีนและวิธีการรักษาที่จำเพาะ ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย ซึ่งเป็นความมั่นคงทางอาหาร ผู้บริโภคไม่ควรสนับสนุนเนื้อหมูที่ไม่ทราบแหล่งที่มา และหากพบเห็นเนื้อหมูต้องสงสัยให้แจ้งกรมปศุสัตว์เพื่อเข้าควบคุมและตรวจสอบทันที

ศ.น.สพ.ดร.เผด็จ ธรรมรักษ์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย