“ก่อการร้าย” ทำลายความสุข สปอร์ตเอ็นเตอร์เทนเมนต์หงอย

การก่อการร้ายเปรียบเหมือนเชื้อไวรัสที่แพร่กระจาย จู่โจมทำลายล้างมากขึ้นในจังหวะเวลาที่เป้าหมายอ่อนแอ มีภูมิต้านทานน้อย ยิ่งผู้คนกำลังหวาดกลัวครั้งที่หนึ่ง ก็ยิ่งมีครั้งใหม่เกิดขึ้น สะเทือนจิตใจต่อเนื่อง แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของโลก

แต่เป็นการยกระดับจาก “การปั่นป่วนทำลายความสงบ” ขึ้นเป็น “การปั่นป่วนทำลายความสุข” คือไม่ใช่แค่ก่อเหตุในที่สาธารณะ ถนน หนทาง แหล่งชุมชน แต่ยังพุ่งเป้าไปยังสถานที่ที่เป็นแหล่งสร้างความสุข สนุกสนาน

อีกทั้งขยายพื้นที่จู่โจม จากแถบตะวันออกกลาง-สหรัฐอเมริกา ขยายเข้าไปในยุโรปที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัยสงบเรียบร้อย โดยเลือกเมืองสำคัญที่เป็นทั้งศูนย์กลางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

นับจาก พ.ย. 2558 การโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายในเหตุการณ์ “ปารีส แอตแท็ก” เป็นเหตุก่อการร้ายครั้งสำคัญและเป็นเคสแรก ๆ ที่โจมตีสถานที่แห่งความสุขความบันเทิง “โรงละครบาตากล็อง” ที่ศิลปินกำลังแสดงคอนเสิร์ต และสนามกีฬา “สต๊าด เดอ ฟรองซ์” ที่กำลังมีเกมการแข่งขันฟุตบอล และมีฝูงชนรวมตัวกันหลายหมื่น

การก่อเหตุครั้งนั้นส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจดนตรีและกีฬาอย่างมาก ในห้วงเวลา 1-2 เดือน งานคอนเสิร์ตทั่วยุโรปต้องยกเลิก รวมไปถึงการแข่งขันกีฬาหลาย ๆ อีเวนต์ สร้างความเสียหายงานละกว่า 100 ล้านบาท

ต่อมา มิ.ย. 2559 มีเหตุกราดยิง “ไนต์คลับ” ที่รวมตัวกลุ่มชายรักชาย ในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา อเมริกา มีผู้เสียชีวิต 50 คน ซึ่งผู้ก่อเหตุครั้งนั้นเป็นชายลูกครึ่งอเมริกัน-อัฟกานิสถาน ที่เคยพัวพันกับกลุ่ม ISIS โดยแรงจูงใจทำให้ก่อเหตุมาจากเห็นชายรักชายจูบกัน

ล่าสุด เหตุสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ การวางระเบิดในคอนเสิร์ตเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ มีผู้เสียชีวิต 22 คน สร้างความสะเทือนใจต่อคนทั่วโลก

ความเสียหายไม่ใช่แค่ยอดผู้เสียชีวิตแต่ละครั้ง ยังสะเทือนถึงธุรกิจบันเทิงและสปอร์ตเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างมหาศาล เพราะแค่ยกเลิกคอนเสิร์ตหนึ่งงานมีความเสียหายคิดเป็นเงินหลัก 10-100 ล้านบาท

ขณะที่ธุรกิจสปอร์ตเอ็นเตอร์เทนเมนต์ หากนับเฉพาะที่สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต้องปิดการเข้าชมสนามและปิดสโตร์ขายของที่ระลึกแค่ 1 วัน ก็สูญเสียรายได้มหาศาล

ในห้วงเวลาที่ผู้คนทั่วโลกกำลังหวาดกลัวเหตุร้ายที่ “แมนเชสเตอร์” ผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่าง ๆ ถือโอกาสนี้ก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็ที่ “ลอนดอน”

และยังขยายวงกว้างไปยัง “เยอรมนี” ทำให้เทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ซึ่งจัดต่อเนื่อง 3 วัน มีผู้ชมเข้าร่วมงานปีละ 1 แสนคน ต้องหยุดชะงักตั้งแต่วันแรก หลังได้รับคำขู่จากกลุ่มผู้ก่อการร้ายว่าจะก่อเหตุ แม้จะแก้ไขสถานการณ์จนทำการแสดงได้ต่อ แต่ก็ปั่นป่วนไม่ใช่น้อย เพราะมีคนดูบางส่วนเรียกร้องให้คืนเงินค่าบัตรในวันที่เกิดเหตุ

หากจะวิเคราะห์เหตุผลที่ “ก่อการร้าย” พุ่งเป้าโจมตีสถานบันเทิง น่าจะเป็นเพราะดนตรีและกีฬาเหล่านั้นเป็นวัฒนธรรมตะวันตก ในขณะที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายมีความเชื่อสุดโต่งว่า “วัฒนธรรม-คำสอน” ทางศาสนาของพวกเขาดีงามถูกต้องที่สุด แต่วัฒนธรรมตะวันตกซึ่งมีหลายอย่างขัดต่อหลักศาสนาของพวกเขากลับเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของโลก จึงรู้สึกต่อต้านและอยากทำลาย

สอดคล้องกับข้อมูลเปิดเผยออกมาหลังเหตุการณ์ ปารีส แอตแท็กที่มีผู้ก่อการร้ายบางคนได้ประกาศว่า การก่อการร้ายของพวกเขาไม่ได้ตั้งใจเพียงโจมตีทำลายชีวิตผู้คน แต่นัยยะที่เหนือกว่านั้นต้องการโจมตีวัฒนธรรมอันเป็นที่นิยมของชาวตะวันตก และพวกเขากล่าวถึงการรวมตัวของผู้คนที่ไปชมคอนเสิร์ตในบาตากล็องว่า “งานเลี้ยงโสเภณีลามกอนาจาร”

ส่วนแถลงการณ์ของกลุ่มอ้างความรับผิดชอบต่อระเบิดแมนเชสเตอร์ กล่าวว่า สถานที่ดังกล่าวเป็น “คอนเสิร์ตที่ไร้ยางอาย”

อีกหนึ่งข้อมูลสำคัญจากนิตยสาร Dabiq ที่กลุ่ม ISIS ใช้เผยแพร่แนวความคิดและหาแนวร่วม มีเนื้อหาบทหนึ่งที่อธิบายเหตุผล 6 ข้อว่า “ทำไมเราถึงเกลียดคุณ ทำไมเราถึงสู้กับคุณ”

ใจความโดยสรุป ISIS เกลียดคนทั้งโลกที่ไม่ใช่มุสลิม เพราะพวกเขาคิดว่า หลักคำสอนของศาสนาอิสลามดีงามถูกต้องที่สุด ในขณะที่คนที่ไม่ใช่มุสลิมประพฤติตัวเสื่อมเสียขัดต่อความดีงามตามแบบที่พวกเขาเชื่อ

ด้านมุมมองของนักวิชาการไทย “รศ.สีดา สอนศรี” อดีตคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิเคราะห์เหตุผลการก่อความไม่สงบมี 2 เหตุผลเป็นเหตุจูงใจ คือ ความโลภและการต่อต้านอำนาจรัฐ ส่วนใหญ่เหตุชนวนที่เกิดขึ้นล้วนมีรากเหง้ามาจากความเจ็บปวดเมื่อครั้งอดีต นับตั้งแต่สมัยไล่ล่าอาณานิคมจนถึงวันที่ได้รับเอกราช ยังคงสร้างบาดแผลที่รอวันสะสางจากรุ่นสู่รุ่น

“แม้วันเวลาจะผ่านพ้นไประบบวิธีคิดแบบสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ ถูกเข้ามาแทนที่แนวคิดเดิม ๆ ที่มีศาสนาเป็นสิ่งสูงสุดเป็นสิ่งที่กลุ่มแนวคิดทางศาสนาแบบสุดโต่งไม่สามารถยอมรับได้ และไม่เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงโดยแท้ อันก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างแนวคิดแบบใหม่และแบบเก่า อันเป็นปัญหานำไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐ ที่พยายามนำพาประเทศไปสู่สังคมยุคใหม่ในที่สุด” รศ.สีดากล่าว