“ฟอร์เวิร์ด” สตาร์ตอัพ DeFi มองอนาคตโลกการเงินไร้ตัวกลาง

ชานน จรัสสุทธิกุล
สัมภาษณ์

ปีที่ผ่านมาตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเติบโตอย่างบ้าคลั่ง ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มการเงินไร้ตัวกลาง หรือ DeFi (decentralized finance) กลายเป็นนวัตกรรมการเงินของ “โลกใหม่” ที่น่าจับตา แต่พลันที่ตลาดคริปโตตกต่ำต่อเนื่อง อุตสาหกรรม DeFi ก็ซบเซาตามไปด้วย ซ้ำเติมวิกฤตความเชื่อมั่นที่ DeFi มักเป็นช่องทางในการโดนโจรกรรมทางไซเบอร์ มีแม้กระทั่งเจ้าของแพลตฟอร์มที่ปล้นเงินผู้ใช้เสียเอง (rug pool)

“ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ “ชานน จรัสสุทธิกุล” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ฟอร์เวิร์ด โฮลดิ้งส์ เทคสตาร์ตอัพบล็อกเชน และผู้ให้บริการการเงินแบบ DeFi หลากหลายแง่มุมทั้งที่เกี่ยวกับตัวบริษัทเอง (กำลังจะเข้าสู่รอบการระดมทุนรอบซีรีส์ A) มุมมองต่อตลาดคริปโตเคอร์เรนซี และโลกการเงินยุคใหม่

วัฏจักรคริปโต

ถ้าเราย้อนดูตลาด วัฏจักรมันเกิดขึ้นเรื่อย ๆ มีลงก็ต้องมีขึ้น อย่างไรตลาดก็จะกลับมา เท่าที่อยู่มา จะเห็นว่าตลาดใช้เวลา 4 ปีทำจุดสูงสุด และใช้เวลา 2 ปีรีบาวนด์ ทุกรอบจะมีกิมมิกตามมากับวัฏจักรรอบนั้น ๆ ย้อนไป 8 ปีก่อน เป็นเรื่องของเหมือง คนจะแห่กันซื้อเหมืองบิตคอยน์ จะมี mining service เกิดขึ้นจำนวนมาก

4 ปีถัดมา เป็นยุคของ ICO มีแต่คนอยากลงทุนในโปรเจ็กต์ ICO ต่าง ๆ หลังจาก Ethereum เกิดขึ้น คนต่างก็ทำเหรียญของตัวเอง หรือไปลงทุนในเหรียญในโปรเจ็กต์ต่าง ๆ

ปัจจุบันเป็นยุคที่เป็น decentralized finance ที่ยังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พวก mining services ที่มาก่อนก็ยังมี เช่นเดียวกับโปรเจ็กต์ ICO ก็ยังมีอยู่ และเริ่มเข้ามามีบทบาทในการขุดแทน โดยมี DeFi เข้ามาเพิ่มเติม ทำให้รูปแบบการลงทุนเปลี่ยนไป อาจไม่ต้องขุด ไม่ต้องซื้อขายแล้ว แต่เอามาทำฟาร์มแล้วได้ผลตอบแทน เป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ที่เป็นกระแสแล้วขยายไปสู่ GameFi, Meta Fi ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ DeFi ที่สเกลออกไป

ทำอย่างไรในช่วงตลาดขาลง

ในฐานะผู้ประกอบการ และนักพัฒนา เป็นช่วงที่ควรเตรียมของ เพราะตลาดมีเขียว มีแดง จึงต้องผลักดันเต็มที่ให้มีผลิตภัณฑ์ไว้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ ไว้เปลี่ยนแปลงประเทศชาติ ชีวิตความเป็นอยู่ของคน เมื่อถึงเวลาที่ถูกต้องถึงจะปล่อยออกมา

จังหวะเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับตลาด ถ้ามาผิดเวลาก็ผิดพลาดได้ จึงต้องศึกษาตลาดให้ดี และทำความรู้จักตลาดเรื่อย ๆ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ตลาดจะมาเอง

สำหรับฟอร์เวิร์ด เราทำ decentralized derivatives (อนุพันธ์) ครอบโมเดล DeFi แบบฝาก และกู้ยืม เพราะเห็นว่าปัจจุบันมีแพลตฟอร์มการฝาก/กู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมาก เช่น Compound, Aave, Venus ทุกเจ้าฝั่งตะวันตกเขาทำหมดแล้ว เพนพอยต์ที่เราเห็น คือ ส่วนใหญ่มีแต่คนฝาก ไม่มีคนกู้

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ ทำอย่างไรให้มีคนกู้ เราจึงทำแพลตฟอร์มอนุพันธ์ขึ้นมาบน DeFi เพื่อให้เกิดการ long การ short เพื่อให้ผู้ใช้เข้ามาใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยง คือ สมมติว่าเราซื้อของไว้ แต่กลัวของราคาร่วงก็จะไป short ไว้ เป็นการกู้ยืม การ long คือการยืมมาซื้อ หรือ short คือยืมมาขาย ก็จะเกิด barrowing demand เกิดดอกเบี้ยต่อปี (APY) คนฝากก็ได้รับดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยก็จะโต ยิ่งดึงดูดให้คนนำเงินมาฝาก จะยิ่งเกิดสภาพคล่องใน Pool (Pool คือสมาร์ทคอนแทร็กต์ที่ระบุให้เป็นที่เก็บรวบรวมสินทรัพย์จากหลายที่เป็นที่เดียว)

เมื่อ Pool มีสภาพคล่องที่ดี คนซื้อขายยิ่งได้รับประโยชน์ เพราะสามารถยืมของจาก Pool มาเทรด คล้ายกับมาร์จิ้นเทรด ทั้งหมดเป็นระบบนิเวศที่ไม่มีความเสี่ยงในตัวแพลตฟอร์ม สิ่งที่เราทำเป็นการสร้างสมดุลให้กับสามฟีเจอร์นี้ คือ การกู้ การฝาก และการซื้อขายอนุพันธ์

มูลค่าตลาดอนุพันธ์

แพลตฟอร์ม DeFi ที่เป็นอนุพันธ์คริปโตค่อนข้างฉีกจากตลาด และยังไม่มีผู้ชนะที่ชัดเจน คู่แข่งของเรา เป็นโกลบอลสเกล แต่โดยไมนด์เซตของเราเอง เราไม่ได้แข่งกับใคร แต่ถ้ามองเป็นเซ็กเตอร์เดียวกัน คือ decentralized derivatives exchange เช่น Dydx, Injective Protocol, Future Swap เหล่านี้เป็นแพลตฟอร์มอนุพันธ์ในเซ็กเตอร์เดียวกัน เราก็จะเป็นส่วนที่เข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดนี้

คนที่เทรดคริปโต ระดับหนึ่งจะรู้จัก Binance เป็นกระดานเทรดที่ใหญ่ที่สุด และวอลุ่มมากสุดในโลก และจะเจอส่วนที่เป็น spot คือการเทรดคริปโต หรือบิตคอยน์แบบธรรมดา และแบบ future หรือ derivatives ของบิตคอยน์ หรืออีเทอเรียม ซึ่งวอลุ่มหรือปริมาณซื้อขายฝั่งอนุพันธ์จะสูงกว่าฝั่ง spot โดยรวมแล้วมูลค่าของตลาดอนุพันธ์คริปโตสูงกว่ามูลค่าตลาดคริปโตปกติ 3 เท่า

หมายความว่า ถ้าฟอร์เวิร์ดได้ส่วนแบ่งแค่ 0.1% ก็ทำให้บริษัทอยู่ได้หลายสิบปีเลย

ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง

แน่นอนว่าเมื่อผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงมาก ความเสี่ยงแรก คือ เรื่องราคา เวลาอยู่ในตลาดจะเห็นว่าราคาเหรียญสะวิงแรง เหรียญที่วางไว้เป็นหลักประกันการกู้ หรือการซื้อขายแลกเปลี่ยน ล้วนมีความเสี่ยงด้านราคา

อย่างที่สอง เรื่องกฎหมาย และผู้ก่อตั้ง เพราะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ต่อให้ทำดีแล้ว แต่ถ้ากฎหมายไม่เอื้อให้เขาดำเนินธุรกิจต่อได้ บางประเทศมองว่าโปรเจ็กต์นั้นผิดอาจไม่ให้คนในประเทศใช้งาน เป็นความเสี่ยงที่จะขาดลูกค้า หรืออีกกรณี มีการฟ้องร้องจนต้องปิดโปรเจ็กต์เหล่านั้น รวมถึงความเสี่ยงจากผู้ก่อตั้ง ที่อาจตั้งใจมาหลอกลวงผู้ใช้งาน หรือ rug pool

อย่างที่สาม คือ เรื่องเทคนิค ว่าสมาร์ทคอนแทร็กต์ หรือบล็อกเชนมีความปลอดภัยหรือเปล่า แข่งได้หรือเปล่า คนไม่ประสงค์ดีไปขโมยเงินได้หรือเปล่า ทุกอย่างเป็นความเสี่ยงที่ผู้ใช้งานต้องระลึกถึงเสมอ

หลักที่ควรรู้ก่อนลงทุน

การจะลงทุนก็ต้องศึกษาให้ดี แต่ด้วยตลาดมีความเสี่ยงสูงมาก คงไม่สามารถศึกษาได้ครบทุกปัจจัย แต่ก็ควรศึกษาในระดับหนึ่ง แล้วใช้การ money management เพื่อจัดการความเสี่ยงของพอร์ต จะลงทุนได้ก็ต้องออกได้ ไม่ทุ่มสุดตัว ไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็ตาม

กอย่างที่พอจะช่วยได้ คือ ดู VC ที่น่าเชื่อถือ เพราะถ้ากองทุนเหล่านี้จะลงทุน เขาจะมีทีมเข้าไป audit เต็มที่ ทั้งเรื่อง financial audit, business model audit เพื่อที่จะมั่นใจว่าสตาร์ทอัพนี้ โปรเจ็กต์นี้น่าลงทุน ฉะนั้นเวลาที่โปรเจ็กต์หรือเหรียญต่าง ๆ เปิดตัวเองออกมา ถ้ามี VC ที่ดีหนุนหลัง เขาจะเปิดเผย อาจลงทุนตามได้ เพราะ VC กรองมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แค่พออุ่นใจได้ระดับหนึ่ง

มุมมองเกี่ยวกับหน่วยงานกำกับ

กรณี ก.ล.ต. ทำได้ 2 แบบ คือ 1.กำกับ 2.ไม่กำกับ

ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี หรือตลาด DeFi การกำกับยากมาก เพราะเป็นการเงินที่ไร้ตัวกลาง จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องทางเทคนิคอล และการรีเสิร์ชให้มาก ต้องตั้งทีมขึ้นมาศึกษาโมเดลทางการเงิน โมเดลทางธุรกิจ สมการคณิตศาสตร์ และสมาร์ทคอนแทร็กต์นั้น ๆ สมการของโค้ดที่ผู้ก่อตั้ง และนักพัฒนาแพลตฟอร์มคิดค้นขึ้นมาว่ามีเหตุผลหรือไม่ ทำการทดสอบว่าบวกลบคูณหารได้ตามที่วางไว้ไหม

สมมติ แพลตฟอร์มกู้เงิน หลักการง่ายมาก คือเอาเงินคนกู้มาให้คนฝากในรูปของดอกเบี้ย ก็ต้องทดสอบว่าสมการถูกหรือไม่ เงินไหลแบบตรงไปตรงมาหรือเปล่า

อีกเรื่องคือการ audit โมเดลทางธุรกิจอาจถูก แต่โค้ดอาจจะผิด ต้องเอาเรื่องทางเทคนิคอลมาดู ก.ล.ต.จึงต้องสร้างทีมดูแลด้านนี้ เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าอย่างน้อยโปรเจ็กต์นั้น ๆ มีความน่าเชื่อถือ ถึงจะกำกับได้

ถ้าหน่วยงานกำกับดูแลไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ต่อให้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ สุดท้ายแล้วก็ยังมีโอกาสล่มสลายได้ง่าย ๆ อย่างน้อยถ้าจะให้ใบอนุญาต อาจต้องดูแลเรื่องเทคนิคอล ออดิต และโมเดลการเงินด้วย ซึ่งค่อนข้างยาก

สอง คือ ไม่กำกับ เน้นส่งเสริมนักลงทุน ให้มีไมนด์เซตที่จะลงทุนแบบมีการจัดการความเสี่ยง ให้ลงทุนอย่างถูกต้อง

หรือถ้า ก.ล.ต. หรือหน่วยงานกำกับ ไม่เข้ามาเองก็อาจส่งเสริม VC ให้เข้ามาลงทุนใน DeFi ก็ได้ แล้วให้ VC เหล่านั้น audit และรีเสิร์ช แล้วค่อยตรวจสอบ VC อีกที อย่างไร VC ก็ต้องตระหนักหรือมีความกังวลก่อนลงทุนอยู่แล้วว่าลงทุนไปจะล่มหรือเปล่า ต้อง audit ทั้งทางเทคนิคอล และทางบัญชี กว่าจะใส่เงินในสตาร์ตอัพที่เป็น DeFi ถ้า VC มีกระบวนการเหล่านี้แล้ว ก.ล.ต.ก็แค่ไปส่งเสริม แล้วให้ VC เป็นตราประทับของแพลตฟอร์ม ก็เป็นอีกทางที่ทำได้

DeFi มีโอกาสใช้แพร่หลายแค่ไหน

เป็นได้มาก และเริ่มแล้ว เพราะเรามีสิ่งที่เรียกว่า stable coins มีสิ่งที่เรียกว่า CBDC แม้แต่ ธปท.ก็ศึกษา CBDC เพื่อทำเหรียญตัวเองแทนเงินบาท

ถ้าไม่รอ CBDC ภาคเอกชนก็มี stable coin ซึ่งตรึงค่ากับเงินจริง ๆ แล้ว เขาสามารถเอาเงินเหล่านี้มาทำ mass adoption ได้ เช่น ผมอยากซื้อกาแฟด้วยโทเค็นดิจิทัล ก็เอา stable coin เหล่านี้มาซื้อ อยากกู้อยากฝากก็ใช้โทเค็นเหล่านี้ แทนที่จะใช้บิตคอยน์ที่ผันผวนสูง พอ CBDC เกิดขึ้นก็จะเชื่อมต่อกับโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ได้ และชัดเจนขึ้น ใช้งานในโลกจริงได้ดี เรื่อง adoption ก็สามารถเกิดได้

อย่างแม่ผมเอง เมื่อก่อนใช้พร้อมเพย์ ใช้แอปเป๋าตังไม่เป็น พอรัฐบาลมีโครงการคนละครึ่ง ใช้เป็นเลย จากที่เคยนั่งสอนใช้โมบายแบงกิ้งเป็นปี ๆ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามีประโยชน์ ใช้เวลาแป๊บเดียว ไม่ใช่แค่คุณแม่ผม คุณป้า อากง อาม่า ก็ใช้เป็น เกิด mass adoption เขาเรียนรู้จากพ่อค้าแม่ค้าในตลาด โดยที่เราไม่ต้องสอนด้วยซ้ำ น่าทึ่งมาก

เห็นเลยว่าคริปโตเคอร์เรนซีเอง หรือ DeFi เองก็เกิดแบบนั้นได้ เขาสามารถที่จะรู้จักกับบิตคอยน์ โอนบิตคอยน์เป็น ได้แน่นอน ถ้ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยว

ยิ่งมี CBDC มีผลประโยชน์จากการฝากเงินบาทดิจิทัล ฝากเงินดั้งเดิมกับธนาคาร ได้ดอกเบี้ย 0.25% ฝากแบบ CBDC บน DeFi อาจได้ 5% มีหรือที่เขาจะไม่อยากเรียนรู้ แล้วการฝากทั้งสองแบบนี้ก็ออกมาจาก ธปท.เหมือนกัน

ปัจจุบันธนาคารกินส่วนต่าง ดอกเบี้ยเงินฝาก 0.25% ดอกเบี้ยเงินกู้ 7-10% ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการกู้จำนวนมาก แต่ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากนิดเดียว ถ้าเป็น DeFi ตัดตัวกลางออก จะเกิดความยุติธรรมกับคนกู้และคนฝากมากขึ้นในแง่ดอกเบี้ย

นี่แค่เซ็กเตอร์ธนาคาร แต่จริง ๆ ปรับไปใช้ได้กับทุกเซ็กเตอร์ การเงินเป็นจุดเริ่มต้นของวงการต่าง ๆ เป็นที่ที่เงินทุนเกิดขึ้นแล้วไหลไปที่อื่น ๆ จากนั้นย่อมมีการปรับประยุกต์บล็อกเชนกับสิ่งอื่น ๆ เช่น เกษตรกรรม ยานยนต์ เป็นต้น