สูตรเปลี่ยน คู่ค้า เป็น พาร์ตเนอร์ สไตล์ AIS Business

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย-AIS

กลุ่มลูกค้าธุรกิจหรือองค์กร ถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่ค่ายมือถือให้ความสำคัญมาแต่ไหนแต่ไร เพราะแม้ในแง่จำนวนองค์กรอาจไม่มาก แต่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ลักษณะการให้บริการจะไม่ใช่แค่บริการโทรศัพท์มือถือ แต่ขยับไปยังการให้บริการดิจิทัล และโซลูชั่นต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสำคัญ ๆ ที่องค์กรธุรกิจเผชิญ

AIS แยกหน่วยธุรกิจออกมาเป็น AIS Business โฟกัสองค์กรธุรกิจโดยเฉพาะ

ปัจจุบันเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้และการเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ที่ผ่านมายังสามารถผลักดันรายได้ให้เติบโต 26%

“ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย” หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ในปี 2566 ของ AIS Business ยังคงจะเดินหน้าสร้างการเติบโตภายใต้กลยุทธ์ “เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน” กับลูกค้าทั้งภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้ตอบโจทย์การเติบโตของลูกค้าอย่างยั่งยืน โดยเน้นย้ำเสมอว่า “ลูกค้า” คือ “พาร์ตเนอร์”

ย้ำวิสัยทัศน์ Cognitive Tech-co

“เราไม่ได้มาขายของอย่างเดียว แต่เรามาเพื่อช่วยเหลือให้ลูกค้าเติบโตไปพร้อมกัน ในฐานะโอเปอเรเตอร์ที่มีวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ cognitive tech-co”

และว่าในปี 2566 นี้ การทำงานของ AIS Business ยังคงมุ่งมั่นขยายฐานความร่วมมือทำให้ลูกค้ากลายเป็นพันธมิตร เพื่อช่วยเหลือให้องค์กรของลูกค้าสามารถให้การบริการลูกค้าของเขาได้อีกทอดหนึ่ง “AIS มีความแข็งแกร่งจากฐานผู้ใช้งาน โครงข่ายที่ครอบคลุม และเทคโนโลยีดิจิทัลโซลูชั่นที่พัฒนาต่อเนื่อง และออกแบบให้เหมาะสมกับองค์กรหรือพันธมิตรแต่ละราย”

ผ่าน 5 กลยุทธ์คือ

1.การเชื่อมต่อ 5G ecosystem

2.ยกระดับการทำงานของโครงข่ายด้วย intelligent network

3.เสริมความสมบูรณ์ของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและแพลตฟอร์ม

4.เสริมอาวุธด้านการตลาดและเพิ่มโอกาสการเติบโตด้วย data-driven business

5.ส่งมอบบริการด้วยทีมงานมืออาชีพ

แม่ทัพ AIS Business มองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะเติบโตที่สุดในช่วงเปิดเมืองหลังโควิด-19 คือ ธุรกิจค้าปลีก, โรงงาน, การขนส่ง และธนาคาร ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย หากการทรานส์ฟอร์มด้วยโซลูชั่นของ AIS ช่วยให้พาร์ตเนอร์ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้เติบโต เศรษฐกิจโดยรวมก็ย่อมเติบโตตามไปด้วยอย่างแน่นอน

“ธนพงษ์” กล่าวด้วยว่า ในภาค SMEs ก็ถือเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน โดยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว สังเกตได้จากการเช่าใช้ไวไฟเพิ่มขึ้นในกลุ่มโรงแรมที่พัก ทั้งการโรมมิ่งข้อมูลของลูกค้าในกลุ่มผู้ประกอบการมีการใช้งานมากขึ้น

ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นภารกิจหนึ่งของ AIS Business ที่จะช่วยสร้างแพลตฟอร์ม Smart SMEs เพื่อช่วยให้ SMEs มาเจอกันเพื่อช่วยเหลือกันและกันทั้งการขยายฐานลูกค้าและให้การช่วยเหลือในการบริหารจัดการ

“เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน”

โดยจะมุ่งไปยังการพัฒนาธุรกิจและสังคมผ่านการเติบโตในมิติต่าง ๆ ใน 3 ด้านคือ

1.การสร้างการเติบโต (growth) ของธุรกิจด้วยการสร้างความสามารถใหม่ ๆ ด้วยเครื่องมือดิจิทัล เช่น AIS 5G และ cloud platform, บริหารจัดการข้อมูลอัจฉริยะ data insight & lifestyle as a service, ครีเอตโซลูชั่นใหม่ ๆ เฉพาะอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น smart manufacturing, smart transportation & logistics, smart city & building และ smart retail เป็นต้น

2.มีบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ และปลอดภัย (trust) ด้วยความพร้อมของ intelligent network, cloud platform และ cyber security ที่สอดรับกับกฎระเบียบของการใช้งานที่ปลอดภัย และเป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละอุตสาหกรรม

3.sustainability สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยพัฒนานวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ เช่น AIS 5G NEXTGen Platform เพื่อสร้าง 5G โซลูชั่นได้สะดวกรวดเร็วขึ้น รวมถึงโซลูชั่นที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยคาร์บอน การปล่อยน้ำเสีย โดยใช้ข้อมูลแบบ real-time จากอุปกรณ์ IOT เป็นต้น

แกะสูตร 4 กลุ่มพาร์ตเนอร์

“ธนพงษ์” ได้อธิบายถึงการแบ่งกลุ่มพาร์ตเนอร์ของ AIS Business ว่าแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐ, ภาคเทคโนโลยี, ธุรกิจขนาดใหญ่ และกลุ่ม SMEs

โดยกลุ่มภาครัฐจะเป็นกลุ่มที่ให้บริการสาธารณประโยชน์อยู่แล้ว เช่น กับดีป้าในช่วงที่เมืองภูเก็ตปิดเพราะวิกฤตโควิด ก็ได้เข้าไปช่วยทำข้อมูลทำแดชบอร์ดเพื่อใช้วิเคราะห์ กลุ่มนี้จึงเป็นพาร์ตเนอร์ที่มีผู้ใช้บริการ หรือลูกค้าคือประชาชน

กลุ่มเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเวนเดอร์ต่าง ๆ หรือเอสไอ (system integrater) ถือว่ามีส่วนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นผู้ทำให้เกิดเทคโนโลยีโซลูชั่นใหม่ ๆ และจะทำให้มีการต่อยอดนำเทคโนโลยีไปใช้ระหว่างกัน ซึ่ง AIS Business มีพาร์ตเนอร์ทางเทคโนโลยีกว่า 200 ราย

ส่วนกลุ่มธุรกิจหรือองค์กรขนาดใหญ่ หรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ บริษัทจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือในการสร้างเทคโนโลยี หรือโซลูชั่น เช่น กรณีปูนซิเมนต์ไทยหรือ SCG ได้เข้าไปช่วยกันตั้งแต่อยากได้รถโฟร์กลิฟต์อัจฉริยะที่ควบคุมระยะไกล ปัจจุบันได้ร่วมกันพัฒนา “รถเหมืองแร่ไร้คนขับ” หรือ unman mining vehicle ซึ่งจะสามารถลดต้นทุน และทำให้เขาเติบโตได้

“อีกตัวอย่างคือ ภาคการเงินการธนาคาร ที่ตอนนี้เราพยายามที่จะเชื่อมโยงลูกค้าหรือพาร์ตเนอร์เราด้วยแพลตฟอร์มแบบองค์กรสู่องค์กร อย่างเช่นการเชื่อมธนาคารกับระบบการชำระเงิน ที่องค์กรชำระเงินกันได้โดยตรง ลดเวลาและต้นทุนเอกสารการเงิน”

สำหรับกลุ่ม SMEs เป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก และกำลังจะเติบโตขึ้นมาหลังช่วงโควิด-19

“เราพยายามทำ smart SMEs เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยง SMEs ไว้ด้วยกัน ให้ช่วยเหลือกันและกัน โดยจะร้อยเรียงโซลูชั่นที่ตอนนี้ด้าน mobile 5G โตเร็ว ตามด้วย network”

“และโซลูชั่นที่เริ่มมีการปรับใช้ในกลุ่ม SMEs แต่ยังไม่ค่อยเห็นมากนัก ทั้งโซลูชั่นการขนส่ง การสต๊อกของ หรือจัดการโกดัง ก็อยากจะนำสิ่งเหล่านี้ร้อยเรียงบน smart SMEs เพื่อให้ SMEs เป็นกลุ่มก้อนเพื่อทำให้เชื่อมต่อกับธนาคารในการที่เขาจะสามารถขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจได้ด้วย”

การลงทุนและการเติบโต

แม่ทัพ AIS Business ย้ำว่า เอไอเอสต้องการสร้างการเติบโตไปพร้อมกับลูกค้า ที่บริษัทมองเป็น “พาร์ตเนอร์” บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า เมื่อเขาเติบโต เราก็จะเติบโตไปด้วยได้ โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์, โรงงาน และภาคการขนส่ง ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย ที่หากเติบโตไปได้ก็หมายถึงเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตด้วย

“เราเองก็ถือว่าโตแบบ double digit อยู่แล้วในทุกปี แนวโน้มการใช้งานของพาร์ตเนอร์หรือลูกค้าจะโตมากในส่วนของการเปลี่ยนไปใช้ 5G เพิ่มขึ้น 40-50% แต่ในส่วนของการเปลี่ยนไปใช้คลาวด์ของพาร์ตเนอร์องค์กรต่าง ๆ มีการเติบโตระดับ 100%”

ส่วนการลงทุนในปี 2566 ภาพรวมจะยังคงใช้งบประมาณใกล้เคียงกับทุกปี คือ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบสมัยใหม่มากขึ้น และชาญฉลาดมากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพาร์ตเนอร์ได้ดียิ่งขึ้น