บิ๊กมูฟ ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ดัน กิ้งก่า-เต่าบิน สยายปีกธุรกิจด้วยนวัตกรรม

พงษ์ชัย อมตานนท์

หลังประสบความสำเร็จจากตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ เต่าบิน ผู้ซึ่งนิยามตนเองเป็น คาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง แม่ทัพ ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น พงษ์ชัย อมตานนท์ ก็เปิดตัวแท่นชาร์จรถยนต์ EV กิ้งก่า-Ginka EV ออกมาอีก ยังไม่นับตู้ บุญเติม ที่ปัจจุบันพัฒนาจากตู้เติมเงินมือถือ กลายเป็นแบงก์เอเย่นต์รับโอนเงินถอนเงินได้เช่นเดียวกับ ตู้เอทีเอ็ม ไปแล้ว

จากเทคโนโลยีพื้นฐานของตู้แขนกลชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ “เต่าบิน” และตู้เติมเงิน “บุญเติม” ที่ไม่ได้มีแค่เทคโนโลยี ทำให้การรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมดาวรุ่งของกิ้งก่าอย่าง EV น่าจับตาเป็นอย่างมาก

“พงษ์ชัย” บอกว่า อันที่จริงแล้วฟอร์ทเข้าสู่อุตสาหกรรม EV มานานแล้ว ล่าสุดเพิ่งได้เซ็นสัญญาผลิตแผงวงจรให้บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกแห่งหนึ่ง ทำให้เขาเตรียมแผนนำบริษัทลูก “ฟอร์ท อีเอ็มเอส” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในสิ้นปี 2566 นี้ด้วย เช่นกันกับ “ฟอร์ท เวนดิ้ง” เจ้าของตู้ “เต่าบิน” ที่กำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ฟอร์ท เบฟเวอเรจ” เพื่อเข้าไปปักธงในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเต็มตัว

ส่ง “กิ้งก่า” ชิงเค้กแท่นชาร์จ EV

“พงษ์ชัย” กล่าวว่าใช้เงินลงทุนพัฒนาธุรกิจแท่นชาร์จราว 200 ล้านบาทเป็นการต่อยอดความสามารถทางเทคโนโลยีของ “กิ้งก่า” ที่มาจากตู้เต่าบิน และบุญเติม นั่นคือระบบการจ่ายเงินที่รองรับวิธีการจ่ายเงินได้หลายแบบ ตั้งแต่การหยอดเหรียญ คิวอาร์โค้ด ไปจนถึงผ่านระบบอีวอลเลตต่าง ๆ ทำให้แท่นชาร์จกิ้งก่าใช้ระบบคิวอาร์โค้ด หรือโมบายแบงกิ้งได้โดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชั่นของแบรนด์รถยนต์ หรือแบรนด์แท่นชาร์จเจ้าใด ๆ

“อีกส่วนที่เราเห็นปัญหา คือความรกรุงรังของสายไฟ ก็ได้แก้ปัญหา โดยออกแบบสายโยงไว้บนที่สูงแล้วดึงลงมาชาร์จ และชักเก็บได้ ทำให้สะดวกสำหรับผู้ใช้งาน และไม่ลำบากกับเจ้าของสถานที่ด้วย”

โมเดลธุรกิจของ “กิ้งก่า EV” ดำเนินงานโดย “ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ใช้รูปแบบธุรกิจ “ร่วมลงทุน” กับเจ้าของพื้นที่โดยผู้สนใจเพียงเตรียมพื้นที่ไว้ จากนั้นทีมงานของบริษัทจะเข้าไปเป็นผู้ติดตั้ง และบริหารจัดการทั้งหมด ตั้งแต่ซอฟต์แวร์ไปจนถึงตัวเครื่อง อีกทั้งจะมีการอัพเกรดระบบจอดรถที่สามารถล็อกล้อรถยนต์ที่เข้ามาจอดโดยไม่ชำระค่าบริการได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าของลานจอดรถอย่างมาก

“ฟอร์ทและเจ้าของสถานที่จะแบ่งรายได้จากค่าชาร์จไฟคนละครึ่ง ซึ่งค่าไฟของพื้นที่ที่ให้บริการจะมีความแตกต่างกันส่วนใหญ่ราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 7.5 บาทต่อยูนิต เราจะพยายามเจรจากับพันธมิตรเจ้าของพื้นที่ให้กดค่าบริการให้ไม่เกิน 6.5 บาทต่อยูนิต”

“โดยจะเริ่มทำตลาดในไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าจะติดตั้งได้ถึง 5,000 จุดทั่วประเทศ ภายในสิ้นปี เน้นไปที่เจ้าของคอนโดฯ ลานจอดในซูเปอร์มาร์เก็ต ลานจอดรถในตลาด และอาคารสำนักงานต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตมองว่าเมื่อรถยนต์ไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอาจขยายได้ถึง 50,000 จุดทั่วประเทศ”

“พงษ์ชัย” บอกว่าแท่นชาร์จของกิ้งก่าใช้ระบบกระแสสลับ หรือ AC ทำให้ใช้เวลาในการชาร์จนาน จึงเหมาะกับลานจอดรถ หรือพื้นที่ที่มีบริเวณกว้าง

สำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง หรือ DC ปัจจุบันเป็นของรายใหญ่ที่มีปั๊มน้ำมัน หรือลานกว้าง ๆ อยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นการชาร์จไฟกระแสตรงก็ยังใช้เวลาราว 15 นาที ทำให้รถยนต์ต้องจอดรอ อีกทั้งการทำสถานีชาร์จขนาดใหญ่เพื่อรองรับรถยนต์จำนวนมากต้องใช้เงินทุนจำนวนมากด้วย

“เราจึงสนใจที่การชาร์จแบบ AC มากกว่า ยกตัวอย่างว่า คอนโดฯหนึ่งต้องมีลูกบ้านที่มีรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว แม้ส่วนใหญ่จะยังเป็นรถน้ำมัน ผมขอแค่ตึกละ 5 จุดให้ลูกบ้านที่มีรถยนต์ไฟฟ้าก็พอ ในประเทศเรามีคอนโดฯเท่าไหร่ และตึกอื่น ๆ ที่ยังมีลานจอดรถอีกมาก” ส่วนแท่นชาร์จแบบ DC เราก็มีการพัฒนา แต่ขออุบไว้ก่อน”

คว้าดีลรถยนต์ไฟฟ้าดัง

“พงษ์ชัย” กล่าวด้วยว่า บริษัทเพิ่งได้สัญญาการผลิตแผงวงจรมูลค่าหลายร้อยล้านบาท กับบริษัทรถยนต์ไฟฟ้ารายยักษ์ระดับโลกรายหนึ่ง จึงเตรียมแยก “ฟอร์ท อีเอ็มเอส” ผู้ให้บริการผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย คาดว่าจะยื่นไฟลิ่งได้ภายในไตรมาส 2 เพื่อให้เข้าตลาดทันในสิ้นปี ซึ่งจะทำให้บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น กลายเป็น “โฮลดิ้งคอมปะนี”

“ฟอร์ท เบฟเวอเรจ” โกอินเตอร์

สำหรับธุรกิจที่ถือได้ว่าเติบโตอย่างมากคือ “เต่าบิน” จึงเป็นแรงผลักดันให้ “ฟอร์ท เวนดิ้ง” เปลี่ยนตนเองเป็นผู้ขายสินค้าเกี่ยวกับเครื่องดื่ม พร้อมไปกับการเปลี่ยนชื่อเป็น “ฟอร์ท เบฟเวอเรจ” ก่อนจะยื่นไฟลิ่งในไตรมาส 3/2566 และเข้าระดมทุนในตลาดทันสิ้นปีเช่นกัน

“ฟอร์ท เวนดิ้ง ไม่ได้ผลิตตู้ขายเครื่องดื่มอีกต่อไปแล้ว เพราะตอนนี้ เต่าบินขายเครื่องดื่มได้วันละ 7 ล้านบาท หรือราว 2 แสนแก้วต่อวัน เป้าหมายเรา คือ 1 ล้านแก้วต่อวัน ซึ่งเมนูที่ขายดีมากตอนนี้คือ เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มผสมบ๊วย ซึ่งเราจะเพิ่มตู้และขยายออกไปให้ได้อีก 5,000 ตู้ จากเดิมมีอยู่แล้ว 5,000 ตู้ และภายในปี 2568 จะทำให้ได้ถึง 20,000 ตู้”

หนึ่งในแผนการสยายปีกธุรกิจ “เต่าบิน” คือ การขยายตลาดไปในต่างประเทศ โดยมีการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจหลายรายมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และคาดว่าไม่เกินกลางปีนี้จะได้เห็น “เต่าบิน” ออกไปปักธงไทยในประเทศสิงคโปร์, มาเลเซีย

และอินโดนีเซีย แม่ทัพฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ทิ้งท้ายด้วยว่า ความยากไม่ได้อยู่ที่การผลิต หรือการมีคู่แข่งมาก แต่อยู่ที่ระบบการบริหารจัดการ เช่น การเติมของ รวมถึงเรื่องซอฟต์แวร์ และการจ่ายเงินโอนเงินจะต้องมีการประสานงานในทางกฎหมาย และอื่น ๆ

การขยายตลาดในต่างประเทศจึงเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆของฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น