เปิดมุมมอง แม่ทัพหัวเว่ย ปี’66 ปักหมุดใหม่ “พลังงานดิจิทัล”

เดวิด หลี่

แม้ผลประกอบการปี 2565 ของมังกรจีน “หัวเว่ย” อาจดูไม่สวยนักจากกำไรที่ลดลงไปกว่า 69% อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าแต่ไม่ได้ทำให้บริษัทให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาลดลง ตรงกันข้ามใส่เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 25.1% ของรายได้ทั้งปีทำให้ยอดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าสูงกว่า 977.3 พันล้านหยวนเพื่อตอบสนองกลุ่มธุรกิจที่มีหลากหลายครอบคลุมหลายประเทศ โดยเฉพาะฐานที่มั่นสำคัญในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “เดวิด หลี่” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ดังนี้

Q : ภาพรวมตลาดในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญสำหรับเรา ไทย และภูมิภาคอาเซียนเป็นประชาคมที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ภูมิภาคนี้ยังมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวก การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นยังมีความท้าทาย และต้องใช้วิศวกร และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพอีกมาก เรามีลูกค้าอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม

ในภาพรวมหัวเว่ยจะมุ่งสร้างการเติบโตใน 5 หน่วยธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจผู้ให้บริการ (Carrier) เน้นปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของไทยสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น 5G กลุ่มธุรกิจนี้เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของเรา

2.EBG กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์เป็นการนำเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเพิ่มคุณค่าขององค์กรธุรกิจแต่ละแห่งในเชิงลึก

3.ธุรกิจคลาวด์ เราเป็นบริษัทข้ามชาติแห่งแรกที่เปิดตัวคลาวด์ในราคาที่จับต้องได้ในไทย และเตรียมขยายการลงทุนรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

4.ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ และ 5.กลุ่มธุรกิจ Consumer เน้นไปที่อุปกรณ์ แก็ดเจตต่าง ๆ

ธุรกิจเหล่านี้มีวงจรธุรกิจที่แตกต่างกัน บางธุรกิจมีขนาดใหญ่ บางธุรกิจอยู่ในจุดที่มั่นคง บางธุรกิจเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโต

Q : กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตมาก

คงเติบโตพอ ๆ กัน แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือกรีนเอเนอร์จี โซลูชั่น ของเราที่ค่อนข้างมีความพร้อม โดยเฉพาะโซลูชั่นด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และในประเทศไทย เราเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

ใน 5 กลุ่มธุรกิจของเรามีทั้งธุรกิจโครงข่ายแบบดั้งเดิม และกลุ่มธุรกิจใหม่ แต่ละอุตสาหกรรมมีการเติบโตที่แตกต่างกัน สำหรับธุรกิจใหม่ ผมคิดว่าธุรกิจที่จะพลิกโฉม คือ ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และธุรกิจพลังงานใหม่

จากความต้องการด้านพลังงานแนวใหม่สำหรับที่อยู่อาศัย และองค์กรธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมส่งเสริมการเติบโตด้านนี้

สำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล เราต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีคลาวด์ที่จำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะสามารถเข้าถึงบริการโดยลงทุนไม่สูงจึงมั่นใจว่าทั้งสองกลุ่มจะโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยากที่จะเปรียบเทียบว่าธุรกิจใดมีศักยภาพการเติบโตที่สูงกว่า

Q : เทรนด์พลังงานดิจิทัล

เราให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมาก

ตั้งแต่ปี 2565 ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องประเทศไทยมีข้อได้เปรียบมากในการพัฒนาธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ จากแสงแดดกว่า 2,600 ชั่วโมงต่อปี มากกว่าทวีปยุโรป แต่เทคโนโลยีโซลาร์รูฟในยุโรปก้าวกระโดดอย่างมาก ขณะที่ไทยเพิ่งเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีนี้ ด้วยราคาพลังงานปัจจุบัน และแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เทรนด์การใช้พลังงานแสงอาทิตย์มีโอกาสไปได้อีกไกล

เราคาดหวังว่าจะกระตุ้นพาร์ตเนอร์ให้เร่งเทคโนโลยี และปรับใช้พลังงานใหม่เหล่านี้ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งต้องเร่งให้มีผู้เล่นมากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น และมีราคาถูกลง เพื่อให้พลังงานสะอาดเหมาะสมกับการใช้งานเป็นการทั่วไป

สำหรับธุรกิจพลังงานดิจิทัล หรือกลุ่มพลังงานที่นอกเหนือจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีนักลงทุนจำนวนมากสนใจลงทุนศูนย์ข้อมูล ซึ่งเมื่อคุณลงทุนในบริษัทใด ๆ เท่ากับว่าคุณลงทุนในศูนย์ข้อมูลของพวกเขาด้วย จะเห็นว่าหลายบริษัทขยายการลงทุนในไทยเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล

แต่การสร้างศูนย์ข้อมูล ต้องใช้อุปกรณ์เสริมจำนวนมาก เช่น แบตเตอรี่ เซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์ส่งสัญญาณ เราเตอร์ อุปกรณ์ระบายความร้อน โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ซึ่งเรามีพื้นฐานด้านการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ แม้การสร้างศูนย์ข้อมูลเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ยังมุ่งมั่นลงทุนด้านนี้เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลระดับภูมิภาค

เช่นเดียวกับการที่เราพูดเรื่อง โซลาร์ โซลูชั่น เราไม่ได้ทำแผงโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งเท่านั้น แต่ยังมี Inverter แบตเตอรี่ ตลอดจนชิปอัจฉริยะต่าง ๆ ที่เข้าไปอยู่ในอุปกรณ์ และโซลูชั่นของเรา ซึ่งค่อนข้างหลากหลายมากทีเดียว

Q : ต้องใช้เงินลงทุนแค่ไหน

เรื่องการลงทุนด้านพลังงานดิจิทัล คงไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขตรงไปตรงมาได้ แต่สามารถแบ่งปันข้อมูลได้ว่าเราเริ่มลงทุนหลายด้านเมื่อปีที่ผ่านมา รวมถึงตั้งเป้าการผลิตคนดิจิทัลถึง 10,000 คน ใน 3 ปี ทั้งร่วมมือจากภาครัฐและภาคการศึกษาหลายแห่ง สร้างแพลตฟอร์มให้ความรู้วิศวกร และนักศึกษา ปีนี้มีวิศวกร 358 คน ได้รับใบรับรองความรู้จากการฝึกอบรมภายในไม่กี่เดือน

เรายังเพิ่มวิศวกรด้าน “กรีน เอนเนอร์จี” ไปแล้วกว่า 280 คน ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 และวางแผนจัดอีเวนต์เพื่อเปิดรับพันธมิตรผู้ประกอบการอีก 6 ครั้ง เพื่อส่งเสริมการขยายธุรกิจด้านพลังงานสะอาด

เราต้องการพาร์ตเนอร์ธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศ จะเรียกว่าเป็น “ผู้ติดตั้ง” (Installer) เพื่อช่วยติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในโซลูชั่นพลังงานสะอาดของหัวเว่ย รวมทั้งให้คำแนะนำด้านเทคนิคกับผู้ใช้ โดยเพิ่มจำนวน Installer เหล่านี้มาเป็นพาร์ตเนอร์ของเรา เพื่อเร่งผลักดันอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตจนผลิตภัณฑ์มีราคาถูกและใช้งานได้ทั่วไป

กลยุทธ์ด้านพลังงานสะอาดของหัวเว่ยจะเน้นกลุ่มที่อยู่อาศัยและองค์กรเชิงพาณิชย์ มีการพัฒนาข้อตกลงกับบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่หลายแห่งแล้ว รวมถึงหน่วยงานรัฐบาล เพื่อพิจารณาการสร้างโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่

Q : ธุรกิจโครงข่ายหลังการควบรวมทรู-ดีแทค

ธุรกิจผู้ให้บริการโครงข่ายเป็นธุรกิจหลักของเรา หัวเว่ยเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย เชื่อว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้จะเสริมสร้างให้การใช้โครงข่ายมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง (Solidity) ทำให้คนไทยได้รับบริการที่ดีขึ้น

ผมขอย้ำอีกครั้งว่าไทยอยู่แถวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในเอเชีย-แปซิฟิก ปีนี้ เราจะใช้ประโยชน์จากการขยายของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่กลับตัว ผลักดันเทคโนโลยี 5G เพื่อช่วยลูกค้าธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่บริษัทยักษ์ไปจนถึงเอสเอ็มอี ในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับธุรกิจผู้ให้บริการโครงข่าย (Carrier)

หลังโควิด-19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา ทำให้ธุรกิจโรงแรม, สนามบิน, การขนส่ง และร้านอาหารฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เราเชื่อว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องเข้าสู่การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ทำให้ธุรกิจไอซีทีของเรามีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

Q : รับมือสงครามการค้า

ผมมองว่าภูมิภาคอาเซียนมีความสงบสุข และเศรษฐกิจยังมีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ความก้าวหน้าเป็นทิศทางหลักของภูมิภาคนี้ และประเทศไทยก็เปิดกว้างและส่งเสริมอิสรภาพในการทำธุรกิจ องค์กรเลือกทำธุรกิจตามปัจจัยหรือโอกาสที่เอื้ออำนวย

กรณีสงครามการค้า ผมคิดว่าประเทศไทยยังมุ่งเน้นการให้บริการลูกค้าให้ดีที่สุด ในแง่ห่วงโซ่อุปทาน เราเพิ่มการลงทุนในโครงการสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCM) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันการหยุดชะงักของธุรกิจจากความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เชื่อว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีระบบห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง